xs
xsm
sm
md
lg

กทม.จ่อต้องคืนเงินค่าภาษีป้าย 43.2 ล้าน ให้ “บริษัท ปตท.” ย้อนหลัง 7 ปีภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กทม.จ่อต้องคืนเงินค่าภาษีป้าย 43.2 ล้าน ให้ “บริษัท ปตท.” ย้อนหลัง 7 ปีภาษี หลัง อัยการสูงสุด มีหนังสือตอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการชี้ขาดคดีแพ่งของส่วนราชการ หรือ กยพ. ย้ำมติเดิม “กทม. ไม่มีข้อเท็จจริงใหม่” ที่จะขอให้ทบทวนคำตัดสิน หลัง กยพ.ชี้ขาดไปแล้ว เมื่อปี 2556 ด้าน “สำนักการคลัง กทม.” แจ้งเขตส่งสำเนาใบเสร็จรับเงิน “ค่าภาษีป้าย” ก่อนเสนอ ผู้ว่าฯ กทม. ดำเนินการคืนค่าภาษี

วันนี้ (5 ต.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีหนังสือเลขที่ อส 0020/9937 ลงวันที่ 10 ก.ย.2561 ถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อชี้แจงผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) กรณี กทม. ขอให้พิจารณาทบทวนคำตัดสินชี้ขาดราย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ใหม่อีกรอบ กรณีเคยชี้ขาด ให้บริษัท ปตท. ได้รับสิทธิในการยกเว้นการเสียภาษีป้ายสถานประกอบการ “ปั๊มน้ำมัน” ในสังกัดของ บริษัท ปตท. ในพื้นที่ กทม.

ทั้งนี้ อสส. ได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ กยพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาหนังสือของ กทม. แล้ว โดยผลการประชุมคณะกรรมการ กยพ.และหน่วยงานที่เกียวข้อง ครั้งที่ 5/2560 (22 มิ.ย.2560) วาระที่ 3.5 ที่ประชุมมีมติว่า ประเด็นที่มีการขอให้ทบทวนเป็นข้อเท็จจริงเดิมที่ได้มีการพิจารณาวินิจฉัย ชี้ขาดโดยคณะกรรมการ กยพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใหม่ นอกเหนือจากที่ได้นำเสนอคณะกรรมการ กยพ.และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณามาแล้ว และไม่มีเหตุผลอันสมควรที่มิได้ขอมาในครั้งแรกจึงไม่อาจทบทวนคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวได้อีก

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น (8 ก.พ.2559) กรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือถึง อสส. ขอให้คณะกรรมการ กยพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาทบทวนคำตัดสินชี้ขาดเดิมอีกครั้ง ภายหลัง อสส. ได้แจ้งมติ คณะกรรมการ กยพ. ที่ได้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ กทม. ว่า บริษัท ปตท. ได้รับสิทธิในการยกเว้นการเสียภาษีป้ายที่พิพาทตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 มาตรา 8 (7)

และ ให้ กทม.คืนเงินค่าภาษีป้ายให้แก่ บริษัท ปตท. ตามรายงานการประชุมฯ ปี 2556 รวม 42 เรื่อง เรียกให้คืนภาษีป้ายประจำปีภาษี 2550-2554 เป็นเงิน 40,158,550 บาท และรายงานการประชุมปี 2558 จำนวน 41 เรื่อง เรียกให้คืนภาษีป้ายประจำปีภาษี 2552-2556 จำนวน 3,056,580.50 บาท รวมทั้งสิ้น 43,245,136.50 บาท ซึ่งมติคณะกรรมการณ กยพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างต้น และ คณะรัฐมนตรี (12 ธ.ค.2549) ได้รับทราบแล้ว จึงขอให้กรุงเทพมหานครถือปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม กทม. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท ปตท. ไม่ได้รับการยกเวันการเสียภาษีป้าย ตามมาตรา 8 (7) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ขณะนั้น) ในฐานะ ผู้รักษาการตามพระราชบัญญ้ติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และ อัยการสูงสุด (นายอรรถพล ใหญ่สว่าง) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ กยพ. (ในขณะนั้น) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมครั้งที่ 2/2558 (20 มี.ค.58) พิจารณาเอาไว้

“พิจารณาแล้ว มีความเห็นสอดคล้องกับว่า บริษัท ปตท. ไมได้รับยกเว้นการเสียภาษีป้าย ตามมาตรา 8 (7) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 กับทั้งกรณีที่ บริษัท ปตท. มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีป้ายต่อผู้ว่าฯ กทม. ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี จึงไม่สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีเรียกค่าภาษีป้ายจากกทม.ได้ จึงไม่มีสิทธิ ขอให้ กทม.คืนเงินค่าภาษีป้าย" รายงานการประชุมครั้งที่ 2/2558 (20 มี.ค.58) ระบุ

หนังสือขอให้พิจารณาใหม่ ระบุด้วยว่า การที่คณะกรรมการ กยพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้ขาดให้ บริษัท ปตท. ยังคงได้รับสิทธิในการยกเว้นการเสียภาษีป้ายตามมาตรา 8 (7) แห่ง พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 จึงไม่ถูกต้อง และยังคลาดเคลื่อน ต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งกรณีที่บริษัท ปตท. ไม่ได้อุทธรณ์ การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ๋งมีข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน แต่คณะกรรมการ กยพ.และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องพิจารณาและตัดสินชี้ขาดแตกต่างกัน จึงขอให้พิจารณาใหม่

มีรายงานว่า หลังจากมีหนังสือจาก อสส. ล่าสุด กทม. มีหนังสือถึงทุกสำนักงานเขต ให้ดำเนินการตรวจสอบการชำระค่าภาษีป้าย ในราย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งปีภาษีอื่น หากตรวจสอบพบว่า มีการชำระค่าภาษีป้ายกรณีดังกล่าว ขอให้ส่งสำเนาใบเสร็จรับเงินที่สำนักงานเขตได้รับชำระค่าภาษีป้ายไว้แล้วเพื่อให้ กองรายได้ สำนักการคลัง กทม. ดำเนินการคืนค่าภาษี ต่อไป ภายหลังที่ก่อนหน้านั้นมีคำสั่งให้สำนักงานเขตชะลอการประเมินป้ายภาษี ปีภาษี 2558/2559 และ 2560 ไว้ก่อน เพื่อรอคำตัดสินของ คณะกรรมการ กยพ.


กำลังโหลดความคิดเห็น