xs
xsm
sm
md
lg

สทน.คว้า 2 รางวัลเด่นสภาความร่วมมือด้านนิวเคลียร์เอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สทน.กวาด 2 รางวัลเด่นความปลอดภัยด้านรังสี และการจัดการกากกัมมันตรังสี จากสภาความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย เผยตลอด 50 ปีของการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ในไทย ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุจากการดำเนินงานแม้แต่ครั้งเดียว สร้างการยอมรับระดับนานาชาติ

ดร.พรเทพ นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เปิดเผยว่า แม้ความรู้ความเข้าใจของคนในประเทศไทยเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ ตลอดจนความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลกิจการด้านนี้จะมีความเห็นแตกต่างกันอย่างหลากหลาย แต่ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี นับตั้งแต่มีการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามาใช้ประโยชน์ในประเทศไทย ไม่เคยปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุจากการดำเนินงานแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้น ในระดับนานาชาติ สถานะของประเทศไทยจึงได้รับความเชื่อถืออย่างมากในด้านการกำกับกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ล่าสุดที่ประชุมสภาความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชีย (Forum for Nuclear Cooperation in Asia : สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณูในทางสันติ ในภูมิภาคเอเชีย 12 ประเทศ ได้จัดให้มีการมอบรางวัล FNCA Award ให้แก่ประเทศที่มีผลงานวิจัยในการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรือเป็นผลงานทางด้านวิชาการที่โดดเด่น ได้มอบรางวัลให้แก่โครงการดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ในปีนี้มีผลงานเด่นของ สทน.ได้รับรางวัล Excellent Research Project Team จำนวน 2 ผลงาน คือ ความปลอดภัยด้านรังสี และการจัดการกากกัมมันตรังสี (Radiation Safety & Radio Waste Management) ของศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมสำคัญในด้านการจัดการความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และรังสี และการจัดการกากกัมมันตรังสี นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีให้กับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ หนึ่งในงานสำคัญ คือ การเป็นที่ปรึกษาให้กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาดเล็กเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยกิจกรรมสำคัญคือ การจัดทำแนวทางการเฝ้าระวังทางรังสีในกิจกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตของมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นได้ร่วมกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จัดการอบรมด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีและการเฝ้าระวังทางระวังทางรังสีให้กับผู้ปฏิบัติงาน

“ศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสีของ สทน.ได้จัดกิจกรรมร่วมกับ FNCA เพื่อพัฒนาการจัดการกากกัมมันตรังสี การพัฒนาด้านกฎหมาย การชำระล้างหากเกิดอุบัติเหตุทางรังสี และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกากกัมมันตรังสีประเภทของเหลวอีกด้วยสำหรับผลงานที่สองที่ได้รับรางวัล คือการวิจัยการใช้ประโยชน์จากเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็กตรอน Electron Accelerator Applicationการใช้ พอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง หรือ Super Water Absorbent (SWA) ในการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร ซึ่งพอลิเมอร์ดังกล่าวผลิตโดยใช้แป้งมันสำปะหลัง ผ่านกระบวนการฉายรังสีเพื่อปรับคุณสมบัติให้สามารถอุ้มน้ำได้ 200 เท่า และยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผลิตจากวัสดุธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา นักวิจัยได้ทดลองนำไปผสมดินเพื่อเพาะปลูก มะปราง พริก คะน้า กะหล่ำปลี ทำให้ลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก และนักวิจัยได้ทดลองนำพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูง ไปใช้ในพื้นที่ประสบภัยแล้งที่เพาะปลูกส้มโอ และกล้ายาง ให้สามารถรอดชีวิตได้จนเติบโตขึ้นจนเป็นต้นยางได้ ซึ่ง สทน.มีแผนการในการขยายการจาก 100,000 กิโลกรัมต่อเดือน เป็น 100,000 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรต่อไป” ดร.พรเทพกล่าว

ดร.พรเทพกล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมงานของ สทน.ทั้ง 2 โครงการจะได้รับการประกาศเกียรติคุณในนามประเทศไทย ในการประชุม FNCA Ministerial Level Meeting ครั้งต่อไปจัดที่ญี่ปุ่น วันที่ 6 ธันวาคม ศกนี้ และมีความเชื่อมั่นว่าผลงานของ สทน.จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจของประเทศ และจะเป็นหน่วยงานที่เป็นที่พึ่งพาด้านความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และรังสีของประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น