xs
xsm
sm
md
lg

สนช.สาย ศก.ค้านร่าง พ.ร.บ.น้ำ ขู่ขัด รธน.“พรเพชร” สั่งพัก นัดถกต่อ 4 ต.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ร่าง พ.ร.บ.น้ำชะงัก หลังสมาชิกร่วม 7 ชั่วโมง สนช.สายเศรษฐกิจค้านหลายมาตรา ขู่ขัด รธน. “พรเพชร” สั่งพัก นัดถกต่อ 4 ต.ค.

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ... ตามที่ กมธ.วิสามัญ ที่มี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นประธาน พิจารณาเสร็จแล้ว มีการแก้ไข 63 มาตรา จากทั้งหมด 102 มาตรา มีสาระสำคัญคือ โครงสร้างองค์กรบริหารจัดการน้ำ ให้มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นสำนักงานเลขานุการของ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 46/2560 ที่หน้าที่ผู้กำกับนโยบาย ให้ส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ปฏิบัติ กำหนดให้มี ผังน้ำ หลักการคือ หากจะมีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำจะต้องไม่ต้องเกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำ หรือกีดขวางการไหล ช่วยป้องกันน้ำแล้งน้ำท่วม จะทำให้เห็นถึงเส้นทางการระบายน้ำ และกำหนดค่าธรรมเนียม การขอใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สอง 10,000 บาท สำหรับการอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตไฟฟ้าและประปา และน้ำประเภทที่สาม 50,000 บาท สำหรับกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำมาก หรือก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ โดยรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภทให้ นายกฯกำหนดให้กฎกระทรวง โดยต้องศึกษาและรับฟังความเห็นก่อนออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป

จากนั้นที่ประชุมอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง สมาชิก สนช.โดยเฉพาะสายเศรษฐกิจ ไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น เช่น มาตรา 6 วรรคสาม ที่กำหนดให้ท้องถิ่นรับผิดชอบควบคุมดูแลบำรุงรักษาทรัพยากรน้ำ พร้อมกำหนดโทษ หมวด 4 ใครฝ่าฝืน มีโทษปรับ 60,000 บาท จะลงโทษประชาชนที่ใช้ชีวิตกับน้ำได้อย่างไร อีกทั้งจะเกี่ยวข้องกับ ม.39 ที่แบ่งการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ 3 ประเภท และ ม.57 กรณีเกิดภาวะน้ำแล้งอย่างรุนแรงหรือไม่ จะก้าวล่วงไปถึงน้ำของเอกชนด้วยหรือไม่ ถ้าแบบนี้ถือเป็นการให้อำนาจครอบคลุมไปหมด เกรงว่า จะขัดรัฐธรรมนูญ ด้าน กมธ. ยืนยัน ไม่ปรับแก้ พร้อมชี้แจงว่า จำเป็นต้องมี ใช้ปราบปรามผู้ที่กระทำผิด ท้องถิ่นก็มีส่วนยึดโยงกับประชาชน กฎหมายนี้จะเป็นหลักประกันให้ใช้น้ำกันอย่างเท่าเทียม ขั้นตอนก่อนออกกฎเทศบัญญัติก็ต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน และในมาตรา 39 สมาชิก สนช.ทักท้วง เกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า การอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ว่าครอบคลุมแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เคยระบุว่า จะมีการเก็บภาษีน้ำ สำหรับเกษตรกรหรือเลี้ยงสัตว์ นั้นถูกตัดออกไปแล้ว พร้อมเพิ่มมาตรา 40/1 ระบุชัดว่า ห้ามเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวด้วย

จนเมื่ออภิปรายมาถึงบทเฉพาะกาล นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. เสนอต่อที่ประชุมให้ กมธ.วิสามัญ นำประเด็นต่างๆ ที่ สนช.อภิปรายไม่เห็นด้วยไปปรับปรุงก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในฐานะประธานการประชุม จึงแจ้งให้ กมธ.วิสามัญไปพิจารณาทบทวนในมาตราที่ยังมีสมาชิก สนช.ติดใจ คือ มาตรา 4 มาตรา 6 มาตรา 9(6) มาตรา 23/1 มาตรา 39 มาตรา 45 มาตรา 80(1) มาตรา 95(4) และมาตรา 97(4) ให้เรียบร้อย พร้อมทั้งนัดประชุมต่อในวันที่ 4 ต.ค. เวลา 09.00 น. ก่อนจะสั่งพักการประชุมเวลา 17.30 น. รวมเวลาการอภิปราย กว่า 7 ชั่วโมงครึ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น