xs
xsm
sm
md
lg

สภาวิชาชีพข่าวฯ แถลงค้าน “ช่อง 11” รับโฆษณา ชี้กระทบความน่าเชื่อถือ-ทำธุรกิจแข่งเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง ประกาศ กสทช.เปิดทางให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 หรือเอ็นบีที กรมประชาสัมพันธ์ รับโฆษณาจากภาคธุรกิจได้ ชี้กระทบความน่าเชื่อถือ รวมทั้งเป็นการทำธุรกิจแข่งขันกับโทรทัศน์เอกชน จี้ทบทวน พร้อมหาทางแก้ไขปัญหากิจการกระจายเสียง-กิจการโทรทัศน์ทั้งระบบ

วันนี้ (14 ก.ย.) สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. ... โดยมีใจความว่า ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่าง ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. ... เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2561 นั้น สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นว่าการออกประกาศฉบับดังกล่าวได้ล้มล้างหลักการสำคัญของการทำหน้าที่สื่อเพื่อบริการสาธารณะ ที่กำหนดภารกิจกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้รับอนุญาตประกอบกิจการบริการสาธารณะประเภทที่ 3 มีสถานะเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ใช้งบประมาณแผ่นดินในการดำเนินภารกิจเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากรัฐสู่ประชาชน การหารายได้จากการโฆษณาบริการทางธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมของหน่วยงานสื่อภาครัฐซึ่งทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารภาครัฐจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในข้อมูลข่าวสาร

การหารายได้จากการโฆษณาทางธุรกิจแข่งขันกับภาคเอกชนเป็นการทำลายกลไกตลาด และสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการทั้งอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลซึ่งประกอบกิจการทางธุรกิจโดยวิธีประมูล ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรวมกันกว่า 50,000 ล้านบาท และอยู่ในช่วงประสบปัญหาทั้งอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 9/2561 แต่อย่างใด

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทบทวนการออกประกาศ กสทช.ฉบับดังกล่าว และกำหนดแนวทาง วิธีการที่เหมาะสม รวมทั้งแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ทั้งระบบมิใช่การจัดรับฟังความคิดเห็นเป็นส่วนๆ เพื่อให้การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ และเสนอให้รัฐบาลนำแผนปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ในเรื่องการปฏิรูปสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) เพื่อยกระดับการสื่อสารของรัฐ ประชาชน และสาธารณประโยชน์ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง



กำลังโหลดความคิดเห็น