มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ออกโรงแฉ 2 บริษัทลีสซิ่งใหญ่เก็บดอกเบี้ยโหดเกิน 15% ที่กฎหมายกำหนด หนุนฟ้องกลุ่มดำเนินคดีเอาผิด แพ่ง-อาญา พร้อมรับเป็นตัวแทนฟ้อง จี้ภาครัฐเร่งเข้ามาจัดการแก้ปัญหาเชิงนโยบายโดยด่วน ต้องให้ 2 บริษัทยุติการเก็บดอกเบี้ยทันที เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่เดือดร้อน เตือนอย่าหลงเชื่อไปกู้หรือยืมเงินบริษัทดังกล่าว หวั่นจะโดนหลอกจ่ายดอกแพง ถูกขูดเลือดขูดเนื้อ พร้อมกับโดนยึดรถยนต์โดยไม่เป็นธรรม
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับการติดต่อจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ว่ามีผู้เสียหายที่ทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัท เงินติดล้อ จำกัด และบริษัท เมืองไทยแคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนกว่า 100 ราย โดยบริษัททั้งสองให้กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งผู้เสียหายได้ตั้งทนายเพื่อดำเนินการฟ้องทั้งสองบริษัทเป็นคดีกลุ่มแล้วที่ศาลแพ่ง (รัชดาภิเษก) และศาลจังหวัดตลิ่งชัน โดยตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการกู้เงินและทนายความได้เข้ามาร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเตือนภัยสังคมและมุ่งหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการปัญหาในเชิงนโยบาย พร้อมกับขอให้สองบริษัทดังกล่าวยุติการเก็บดอกเบี้ยทันที เพราะเป็นการเก็บดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายกำหนด
นายวิษณุ สนองเกียรติ ทนายความ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากลูกหนี้ก็ติดต่อกับกลุ่มพิทักษ์สิทธิว่าจะให้ความช่วยเหลือในการฟ้องคดีแบบกลุ่มกับบริษัทดังกล่าว เพราะจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทฯ ให้กู้ยืมเงินโดยมีการจำนำทะเบียนรถไว้ ส่วนมากเป็นจักรยานยนต์ เงินต้นที่ผู้เสียหายกู้ถูกบวกค่าธรรมเนียมและค่าประกันภัย แล้วไปตั้งเป็นเงินต้น โดยระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อเดือน 1.75 ต่อเดือน และ 2.50 ต่อเดือน รวมแล้วสูงถึงร้อยละ 18 ต่อปี, 21 ต่อปี และ 30 ต่อปี ซึ่งเกินกว่ากฎหมายกำหนด จึงต้องฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มเพื่อให้ทุกคนที่ไปกู้ยืมเงินกับบริษัทนี้ได้รับการคุ้มครองไปด้วย ถึงแม้การดำเนินธุรกิจเงินติดล้อจะได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง หากเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ ถือว่าผิดกฎหมายและดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย สามารถเรียกคืนได้
นายศุภวุฒิ อยู่วัฒนา ทนายความที่ปรึกษากลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ กรณีของผู้เสียหายกลุ่มนี้ จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทฯ ไม่ส่งมอบสัญญาให้ผู้กู้ และไม่แจ้งว่าคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ แต่ใช้วิธีบอกว่าผู้กู้ต้องคืนดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่แทน ในระยะเวลา 3 เดือน หากคำนวณดอกเบี้ยร้อยละ 2.4 ต่อเดือน คิดเป็นกว่าร้อยละ 28 ต่อปี หากผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้และดอกเบี้ยคืนได้ภายในกำหนด บริษัทจะดำเนินการยึดรถที่โอนลอยไว้ หรือเรียกให้ชำระเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยทันที
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ หรือสินเชื่อ Car for cash นั้นยังไม่พบว่าอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานใด หากผู้ประกอบธุรกิจการกู้ยืมเงินที่มีการจำนำทะเบียนจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ ต้องใช้เกณฑ์ในการคิดตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่คิดได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองบริษัท อาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ และได้รับทราบว่า กระทรวงการคลังกำลังจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน พ.ศ. ... ซึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทกำหนดโทษหากผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น จึงขอเสนอให้กระทรวงการคลังเร่งพิจารณาการกฎหมายดังกล่าว
นายประสิทธิ์ ป้องเศษ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายที่กู้เงินกับ บ.เงินติดล้อฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ได้กู้ยืมเงินจำนวน 10,000 บาท ทางบริษัทฯ บังคับให้ทำประกันภัยจักรยานยนต์ โดยมีเบี้ยประกันจำนวน 926 บาท ได้รับเงินจริงจำนวน 9,074 บาท แต่ในสัญญาระบุว่ากู้เงิน 10,926 บาท โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2.50 ต่อเดือน เท่ากับ 30% ต่อปี และผ่อนชำระคืนเป็นรายงวด งวดละ 1,184 บาท ทั้งหมด 12 งวด เป็นเงินทั้งหมด 14,208 บาท และให้มอบคู่มือจักรยานยนต์ไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน ได้ชำระเงินงวดแรกในเดือนมีนาคมตามสัญญาจำนวน 1,184 บาท แต่งวดที่ 2 ไม่ได้ชำระ บริษัทได้ส่งหนังสือทวงถาม จึงไปชำระในเดือนพฤษภาคม บริษัทได้คิดค่าทวงถาม 100 บาท และคิดดอกเบี้ย 253.19 บาท ค่าธรรมเนียม 590.77 บาท ค่าปรับ 11.02 บาท รวมเป็นเงินชำระ 2,480 บาท จึงได้ไปขอความช่วยเหลือจากกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ และชำระปิดบัญชีไป 12,600 บาท รวมชำระทั้งสิ้น 16,264 บาท