xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กฉัตร” คิกออฟ ‘ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์’ ภาคอีสาน ก่อนขยายไปทั่วประเทศปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รองนายกรัฐมนตรี เร่งขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ทุกหน่วยงานขานรับ ประสานพลัง “1 วัด 1 โรงพยาบาล/รพ.สต.” และ “พลังบวร บ้าน วัด โรงเรียน” นำสถาบันสงฆ์กลับมาเป็นเสาหลักของสังคมไทย เริ่มพื้นที่อีสานปีนี้ก่อนขยายทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 หน่วยงานภาคีขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส ร่วมกันจัดเวที “เปิดตัวการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่พื้นที่” ณ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์เป็นอย่างมาก โดยเร่งรัดการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560” ซึ่งเป็นกรอบและแนวทางสร้างสุขภาวะให้กับพระสงฆ์ทั่วประเทศกว่า 3 แสนรูปในทุกด้าน เพื่อฟื้นคืนบทบาทสถาบันทางศาสนาให้เป็นเสาหลักในการดูแลสุขภาพสงฆ์ด้วยประชาชน ชุมชน และสังคมไทยกันเอง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มอบนโยบายในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นแกนประสานนำนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์สู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยให้นำ 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ “1 วัด 1 โรงพยาบาล/รพ.สต.” ซึ่งเป็นการจับคู่การดูแลสุขภาพพระสงฆ์กับสถานบริการสุขภาพ อย่างน้อยโรงพยาบาล/รพ.สต.ละหนึ่งวัด ที่กระทรวงสาธารณสุขเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันวิสาขบูชาที่ผ่านมา รวมถึง “โครงการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมพลัง บวร (บ้าน วัด โรงเรียน)” ที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับนโยบายของรัฐบาล โดยกำหนดให้วัด/ศาสนสถาน บ้าน (ชุมชน) และโรงเรียน พลังประชารัฐ เป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานจากการมีส่วนร่วม ความเสียสละของคนในชุมชน และการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า วันนี้ยังได้มอบให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งนำธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฉบับแรกไปขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จ โดยมุ่งขยายสู่ทั่วประเทศ เริ่มจากเป้าหมายการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงห์แห่งชาติสู่พื้นที่ในระยะสั้น 2 เดือนนี้ โดยภายในเดือนกันยายน 2561 เราจะมีวัดต้นแบบ 1 วัด 1 รพ./รพ.สต. ที่ดำเนินการให้ได้ผลรูปธรรม 20 วัด เริ่มจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน จากนั้นเป้าหมายระยะสั้น 5 เดือน คือถึงเดือนธันวาคม 2561 จะเริ่มขยายไปในภาคอื่นๆ โดยจะเพิ่มวัดต้นแบบ 1 วัด 1 รพ./รพ.สต. ให้ได้อย่างน้อย 50 วัด และปี 2562 ตั้งเป้าหมายขยายผลให้ได้วัดต้นแบบทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 5,000 วัด ซึ่งต้องอาศัยความเมตตาของคณะสงฆ์ในการมอบหมายงานผ่านกลไกปกครองสงฆ์ทุกระดับด้วย

ด้านพระพรหมวชิรญาณ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) ประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์ ของคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า มหาเถรสมาคมได้รับทราบและสนับสนุนการดำเนินงานของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์ โดยการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์นั้นจะยึดหลัก “ธรรมนำโลก” เพื่อมุ่งสู่ 3 เป้าหมายสำคัญ คือ 1.พระสงฆ์ต้องดูแลสุขภาพกันเองได้ 2. ชุมชนและสังคมร่วมกันดูแลสุขภาพพระสงฆ์ และ 3. พระสงฆ์มีบทบาทในการเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนได้เช่นที่เคยเป็นมา

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการฝ่ายฆราวาส ของคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งพระพุทธศาสนา เป็นส่วนหนึ่งการปฏิรูปสังคมและยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ขณะนี้ทุกภาคส่วนตื่นตัวมากที่จะขับเคลื่อนธรรมนูญฯ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า พล.อ.ฉัตรชัยได้มอบหมายให้ สช.เป็นหน่วยงานกลางประสานการทำงาน โดยนำเอาโครงการ 1 วัด 1 โรงพยาบาล/1 รพ.สต. และโครงการขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมโดยพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) บูรณาการเข้ากับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ทั้งนี้ สช.จะหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานสู่พื้นที่ผ่านกลไกที่มีอยู่อันได้แก่ ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดทุกพื้นที่ และคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) จำนวน 13 เขตทั่วประเทศ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานพยาบาลสังกัด สธ. และ รพ.สต. ที่มีกว่า 1 หมื่นแห่ง พร้อมแล้วสำหรับโครงการต่างๆ ที่จะหนุนเสริมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติตามนโยบายของรัฐบาล โดยบุคลากรด้านสุขภาพจะเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาและดูแลวัดที่จับคู่ในพื้นที่ ให้พระสงฆ์มีสุขภาพดี รวมถึงการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในวัด และสนับสนุนการอบรมพระคิลานุปัฏฐากด้วย

น.ส.ฐิติมา สุภภัค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมชุมชนคุณธรรม กรมการศาสนา กล่าวว่า โครงการ “การขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรมโดยพลัง บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) สู่สังคมคุณธรรมที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” จะช่วยสนับสนุนบทบาทพระสงฆ์ในการพัฒนาชุมชน ผ่านศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ (ศอพ.) ช่วยให้วัดกลับมาเป็นเสาหลักของสังคม สร้าง “ชุมชนคุณธรรม” และมีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์สู่การปฏิบัติในพื้นที่เป้าหมายได้

ด้านนายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า สุขภาวะของพระสงฆ์ถือว่ามีความสำคัญต่อสถาบันพระพุทธศาสนา พศ. จึงมีนโยบายดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ พศ., สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมการปกครอง ได้เร่งดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูล จัดทำบัตรประจำตัวพระสงฆ์ และทะเบียนวัดทั่วประเทศร่วมกัน เชื่อว่าจะช่วยให้พระสงฆ์ทุกรูปเข้าถึงสิทธิและบริการทางสุขภาพ ยามอาพาธ และมีการส่งเสริมสุขภาพอย่างทั่วถึง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาคือเมื่อพระสงฆ์ออกบวชนานๆ ไม่ได้ไปทำบัตรประชาชน หรือบัตรหมดอายุและไม่ได้ต่ออายุ ดังนั้น การทำบัตรประจำตัวพระในลักษณะเดียวกับบัตรประชาชนจะช่วยให้พระสงฆ์เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส.พร้อมขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยปัจจุบันได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬากรณราชวิทยาลัย (มจร.) เคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ในระดับพื้นที่แล้ว 20 จังหวัด นอกจากนั้นได้ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชนด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น