xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เข้มหาเสียงโซเชียลฯ ผิดโทษหนักชดใช้อ่วมปัดเสนอแก้ไพรมารีชี้ของเดิมไร้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต.คุมเข้มหาเสียงผ่านโซเชียลฯ เตือนใส่ร้าย-ให้ข้อมูลเท็จ เจอโทษอาญา-ชดใช้ค่าเสียหายเลือกตั้ง เตรียมตั้งวอร์รูมพิเศษมอนิเตอร์ช่วงเลือกตั้ง ยืนยันไม่ใช่ต้นคิดแก้ไขไพรมารีโหวต แค่ให้ความเห็นตามที่รัฐบาลเสนอมา ย้ำแบบเดิมไร้ปัญหาหลายพรรคพร้อม

วันนี้ (22 ส.ค.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมคณะกรรมการยกร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น ตัวแทนจาก กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการกำหนดกรอบการควบคุมการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียในภาพรวม เช่น ลักษณะใดจะเข้าข่ายกระทำความผิด รวมทั้งการคิดค่าใช้จ่ายด้วย โดยในช่วงต้นนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมด้วย

ภายหลังการประชุมเกือบ 3 ชั่วโมง เลขาธิการ กกต.เปิดเผยว่า หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ก็สามารถออกระเบียบรองรับได้ทันที เนื้อหาโดยรวมจะกำหนดขอบเขตการหาเสียงของพรรคการเมือง ผู้สมัคร หรือผู้ใดทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าจะดำเนินการในลักษณะใดได้บ้าง โดยจะต้องแจ้งต่อ กกต.ล่วงหน้า และต้องรับผิดชอบเนื้อหาไม่ให้เป็นการใส่ร้าย เพราะจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายซึ่งมีโทษค่อนข้างรุนแรง แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมกรณีการให้ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียโดยนำข้อเท็จจริงมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เว้นแต่จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนมายัง กกต.ได้ จากนั้น กกต.จะแจ้งเจ้าของข้อความให้ลบภายใน 1 วัน หากไม่ปฏิบัติตาม กกต.ก็จะลบข้อความเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการลบข้อความไปแล้วไม่ได้หมายความว่าความผิดจะหายไปด้วย เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้วต้องรับผิดทางอาญา และหากมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตจนการเลือกตั้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งต้องเสียไปก็ต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมได้ให้นโยบายโดยแสดงความเป็นห่วงว่าในอนาคตการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียจะมีบทบาทมากขึ้น จึงหวังให้คณะกรรมการชุดนี้ดูแลอย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งก็จะมีการตั้งวอร์รูมพิเศษซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งตัวแทนมาคอยมอนิเตอร์เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย แต่แม้ยังไม่มีการตั้งวอร์รูมข้อมูลที่ส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ก็จะถูกบันทึกเก็บไว้เป็นข้อมูลด้วยและสามารถค้นหาต้นตอผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลได้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียนั้นยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะคิดคำนวณ โดย กกต.ได้มอบให้นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.ที่รับผิดชอบงานด้านพรรคการเมืองไปพิจารณารูปแบบต่อไป

นอกจากนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยืนยันว่า กกต.ไม่เคยเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อเปลี่ยนวิธีการทำไพรมารีโหวต เพราะในขณะนี้ได้เตรียมการสำหรับการดำเนินการไพรมารีโหวตตามกฎหมายพรรคการเมืองแล้วเป็นแนวทางเดียวที่ กกต.ดำเนินการมาโดยตลอด ไม่เช่นนั้นคงไม่ได้ขอให้มีการคลายล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้ได้ 100 คน เพื่อทำกระบวนการไพรมารี และแบ่งเขตเลือกตั้ง หลังจากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้

ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนวิธีทำไพรมารีโหวต ไม่ใช่ข้อเสนอของ กกต. อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้นำแนวทางที่แก้ไขจากการทำไพรมารีโหวตแบบเดิมส่งให้ กกต.พิจารณา ทางสำนักงานก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของแต่ละแนวทางที่ส่งมาเท่านั้น ส่วนการปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่จะทำให้ง่ายขึ้นสำหรับพรรคการเมืองหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องเป็นผู้ตอบ เพราะหลายพรรคก็บอกว่าสามารถทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายพรรคการเมืองได้










กำลังโหลดความคิดเห็น