xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” คุย กกต.ยังไม่เคาะไพรมารีแต่ปรับสอดคล้อง ม.45 รับไม่มีปัจจัยเลื่อนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วงถก กกต.-วิษณุ ให้สานต่อผู้ตรวจการฯ ยังไม่เคาะไพรมารี ส่อแก้ กม.ใช้วิธีใหม่สอดคล้อง รธน.ม.45 ไร้ปัจจัยเลื่อนเลือกตั้ง จ่อคลายล็อกหลังประกาศ กม.ส.ส. ปลดล็อกช่วง 150 วัน โวเวลาหาเสียงมากที่สุด ยันจัดใช้สิทธิเสร็จ 150 วัน ไม่รวมประกาศรับรอง

วันนี้ (20 ส.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับ กกต.ชุดใหม่เป็นการส่วนตัว โดยมี นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมด้วย ผู้บริหารสำนักงาน กกต.เข้าร่วม ซึ่งก่อนการประชุม นายวิษณุ ได้มอบดอกไม้แสดงความยินดี พร้อมอวยพรกกต.ชุดใหม่ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยระบุว่า ชื่นชม และเอาใจช่วยและปวารณาตัวที่จะให้ความร่วมมือกกต.ในทุกประการ ขณะที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.กล่าวขอบคุณต่อคำอวยพรดังกล่าวและยืนยันว่า กกต.ทุกคนขอปวารณาตัวทำงานเต็มที่เพื่อประเทศชาติบ้านเมือง ภายหลังการหารือกว่า 1 ชั่วโมง นายวิษณุ กล่าวว่า ได้มีการหารือ กกต.รวม 10 ประเด็น ซึ่งต่อยอดจากการประชุมช่วงเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นที่จะทำใน 90 วัน ก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้หลังมีการประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะประกาศภายในกลางเดือน ก.ย. โดยประเด็นที่จะทำให้ได้ คือ การคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ 6 อย่าง โดยไม่ต้องขออนุญาต คสช. อาทิ การจัดประชุมใหญ่เพื่อรับสมาชิกใหม่ และการทำในสิ่งที่คล้ายการทำไพรมารีโหวตที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง เพราะหากทำตามกฎหมายพรรคการเมืองจะมีความยุ่ง จึงจะดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแทน แต่แนวทางจะเหมือนที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญเคยหรือเสนอหรือไม่ยังตอบไมได้ เพราะ กกต.ก็ระบุว่า มีหลายวิธีที่สามารถดำเนินการได้ รวมทั้งให้ความเห็นถึงข้อดี ข้อเสียของแต่ละแนวทาง ทำให้ยังไม่ได้สรุปในเวลานี้ ซึ่งตนจะได้รวบรวมเสนอ คสช.พิจารณาแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอการประชุมร่วมกับระหว่าง กกต. คสช. และพรรคการเมืองรอบที่ 2 ในช่วงเดือน ก.ย. โดยการแก้ไขคำสั่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ออกคำสั่งแก้ไขคำสั่งที่ 53/2560 หรือออกคำสั่งใหม่แก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าคำสั่งใหม่จะออกมาเมื่อไร แต่การปลดล็อกพรรคการเมืองทั้งหมดจะมีขึ้นหลังพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ซึ่งอยู่ในช่วง 150 วันที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญกำหนด

นายวิษณุ ยังกล่าวอีกว่า ได้มีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องแล้วได้ข้อสรุปว่ากรอบเวลา 150 วันจะไม่รวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง แต่ก็จะไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผู้นำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในภายหลังหรือไม่ แต่ในทางกฎหมายได้พิจารณาถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มาแล้วว่ากรอบเวลาดังกล่าวไม่รวมการประกาศรับรองผลการเลอืกตั้ง และเป็นระยะเวลาที่เพียงพอต่อการหาเสียงของพรรคการเมือง หากจัดการเลือกตั้งเร็วสุดในวันที่ 24 ก.พ. 62 พรรคการเมืองก็มีเวลาหาเสียงไม่แตกต่างจาการเลือกตั้งในอดีต แต่ถ้าจัดเลือกตั้งช้าสุดในเดือนพ.ค.ก็จะมีเวลาหาเสียงมากกว่าการเลือกตั้งในอดีตทุกครั้งที่ผ่านมาที่จะมีเวลาหาเสียงจริงประมาณ 30 วันเท่านั้น

“เมื่อกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้ก็จะเข้าช่วง 150 วันที่จัดการเลือกตั้ง คสช.ก็จะปลดล็อกให้กับพรรคการเมือง พรรคการเมืองจะมาบอกว่าเวลาหาเสียงไม่พอไม่ได้ เพราะ 5 เดือนหาเสียงได้เต็มที่ ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนยุบสภามีเวลาจัดเลือกตั้ง 45 วันกว่าจะสมัคร ได้เบอร์มีเวลาหาเสียงจริงแค่ 30 วัน แต่คราวนี้ คสช.จะปลดล็อกพรรคการเมืองในช่วงวันแรกๆ ของกรอบเวลา 150 วัน พรรคการเมืองมีเวลาเต็มที่ในการหาเสียง ถือเป็นเวลาหาเสียงที่มากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งในประเทศไทย” นายวิษณุ กล่าวและว่า ถ้าจะกำหนดวันเลือกตั้งในกรอบเวลาที่ช้าที่สุดคือ 5 พ.ค. 62 ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร กฎหมายบังคับใช้แล้ว เขตก็แบ่งแล้ว เบอร์ก็ได้แล้ว แต่ทำไมต้องรออีก 90 วันค่อยโหวตมันไม่เคยมีที่ไหนในโลก อย่างไรก็ตาม การจะจัดเลือกตั้งเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับ คสช.จะหารือกับ กกต. แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งช้ากว่าวันที่ 24 ก.พ. 62 ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมป

นอกจากนี้ ในการหารือกับ กกต. ยังได้สอบถามถึงการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.ชุดเก่าได้เดินหน้าไปแล้วครึ่งแรก กกต.ชุดใหม่จะมารับในครึ่งหลังนี้ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการคัดค้าน ยังไม่ได้รับรองชี้ขาดว่าใครได้เป็นหรือไม่ได้เป็น ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ หากพบว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ความประพฤติไม่เหมาะสมก็สามารถไม่รับรองได้ แต่ไม่สามารถยกเลิกทั้งหมดได้ เนื่องจาก กกต.มีหน้าที่ในการเลือก ส.ว.จึงถือว่าที่ กกต.ชุดเก่าได้เตรียมการมาเป็นเรื่องที่ดี จะได้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งช่วย กกต.ทำงาน ฉะนั้น ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปแต่เปลี่ยนมาอยู่ในมือของ กกต.ใหม่






กำลังโหลดความคิดเห็น