xs
xsm
sm
md
lg

ปัดฝุ่น! พ.ร.บ.บริหารงานพัทยา ฉบับปี 21 ตั้ง “ผู้จัดการเมือง” มาใช้กับเทศบาลทั่วประเทศ - “รองฯ วิษณุ” ขอ มท.ดูขัด รธน.60 หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รองนายกฯ วิษณุ” สั่งการผ่านมหาดไทย ศึกษาระบบการจัดการปกครองแบบผู้จัดการเมือง “city manager” ว่าขัดรัฐธรรมนูญ 60 หรือไม่ หลังผู้ทรงคุณวุฒิเสนอปัดฝุ่นนำการบริหารเมืองพัทยาจาก พ.ร.บ.ปี 2521 มาปรับใช้กับการบริหารเทศบาลทั่วประเทศ เน้นศึกษานำข้อดีของสภาท้องถิ่น มาใช้จ้าง “ผู้จัดการเมือง” แก้ปัญหา อปท.คอร์รัปชัน เผยสถาบันพระปกเกล้าพบ 4 ปัญหา บริหารเมืองพัทยารูปแบบ “สภา-ผู้จัดการเมือง” ที่ผ่านมาถูกครอบงำจากส่วนอื่น

วันนี้ (14 ส.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) มีข้อสั่งการผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย ให้ศึกษาระบบการจัดการปกครองแบบผู้จัดการเมือง (city manager) ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 หรือไม่

ทั้งนี้ ภายหลังนายอุดร ตันติสุนทร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กกถ.ได้นำเสนอต่อที่ประชุมว่า ระบบระบบการจัดการปกครองแบบผู้จัดการเมือง ที่ผ่านมาในอดีตได้เสนอให้มีการปกครองท้องถิ่น หมวด 1 หมวด 9 เพราะนายดำรง สุนทรศารทูล อดีตอธิบดีกรมการปกครองในขณะนั้น ได้ขอแปรญัติสมาชิกของท้องถิ่น ว่าถ้าหากมีความจำเป็นก็ขอให้มีได้ แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากต้องการทดลองที่เมืองพัทยา ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 จากนั้นจึงมีการตั้งเมืองพัทยาเป็นเมืองท้องถิ่น

ต่อมามีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาระบบท้องถิ่น สังกัดสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไปตั้งวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปรากฏว่า อาจารย์พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ อดีตคณบดีวิทยาลัยท้องถิ่น ได้เชิญ ดร.Charles David Crumpton อดีต city manager ของรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มาบรรยายเกี่ยวกับระบบการจัดการปกครองแบบผู้จัดการเมือง

“แต่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเรื่องคอร์รัปชัน ดังนั้น หากคิดว่าถ้าช่วยกัน คือศึกษานำข้อดีของสภาท้องถิ่น แต่ไปจ้าง City manager มาว่าจะบริหารเทศบาลอย่างไร น่าจะได้มีการศึกษา โดยอาจทดลองให้เทศบาล หรือเมืองพัทยา มาเปลี่ยนรูปโฉม ซึ่งปัจจุบันเป็นลักษณะเทศบาล ถึงแม้จะเรียกว่าการ ปกครองท้องถิ่น องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นมื 2 แห่ง คือ กทม. กับเมืองพัทยา จะปรับรูปโฉมเมืองพัทยาให้มี City manager โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแนะนำการปกครองท้องถิ่น น่าจะมีรูปแบบที่มืประสิทธิภาพในการบริหารท้องถิ่น”

มีรายงานว่า ที่ผ่านมาการบริหารเมืองพัทยาที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 โดยการยุบเลิกสุขาภิบาลนาเกลือ ซึ่งเจตนารมณ์ในการจัดตั้งเมืองพัทยาให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของรัฐบาลสมัยนั้น ก็เพื่อทดลองนำเอาระบบการจัดการปกครองแบบผู้จัดการเมืองหรือที่เรียกกันว่า รูปแบบสภา-ผู้จัดการ ที่เทศบาลหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาใช้อยู่นำมาทดลองใช้ในประเทศไทย โดยหากเป็นไปตามระบบของสหรัฐอเมริกานั้นจะต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น (local council) และส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้จัดหาว่าจ้างผู้ที่มีความเหมาะสมมาเป็นผู้จัดการเมือง กล่าวคือ สภาเป็นผู้ว่าจ้างผู้จัดการซึ่งจะอยู่ในวาระที่กำหนด เช่น 2 ปี หรือ 4 ปี รูปแบบนี้ผู้บริหารมาจากการว่าจ้าง เพื่อให้ได้ผู้บริหารมืออาชีพและปลอดจากการเมือง

อย่างไรก็ตาม จากฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้า เขียนไว้ว่า การบริหารเมืองพัทยาในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษระบบสภา-ผู้จัดการเมือง นี้ประสบกับปัญหาหลายประการ ได้แก่ (1) ปัญหาด้านความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมือง (สภา) กับฝ่ายบริหาร กล่าวคือ ตำแหน่งนายกเมืองพัทยาก็คือประธานสภา อันเป็นตำแหน่งทางฝ่ายสภามิใช่ฝ่ายบริหาร ในขณะที่ปลัดเมืองพัทยานั้นโดยแท้จริงเป็นฝ่ายบริหาร เมื่อเป็นเช่นนี้ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นในการบริหารงานของเมืองพัทยาว่าใครเป็นผู้บริหารเมืองพัทยา

(2) ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาดำรงตำแหน่งปลัดเมืองพัทยา ในระยะที่มีการริเริ่มนำเอาระบบการปกครองแบบสภา-ผู้จัดการเมืองเข้ามาทดลองใช้ในเมืองพัทยานั้น มีวัตถุประสงค์ให้ท้องถิ่นมีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพและมีเสถียรภาพพอสมควรในการดำรงตำแหน่ง อีกทั้งได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานให้กับหน่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะ แต่ในทางปฏิบัติแล้วโดยมากจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเข้ามาทำหน้าที่บริหารเมืองพัทยาอย่างมีประสิทธิภาพ

(3) ปัญหาเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของขนาดพื้นที่เมืองพัทยา โดยทั่วไปการปกครองท้องถิ่นรูปแบบสภา - ผู้จัดการเมือง นั้น เป็นรูปแบบที่ใช้บริหารในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กหรือขนาดปานกลาง แต่ในกรณีของเมืองพัทยาซึ่งนับว่าเป็น เทศบาลนครอีกแห่งหนึ่ง จึงนับว่าเป็นพื้นที่ที่ขนาดใหญ่จนเกินการบริหารในรูปแบบดังกล่าวนี้ที่จะสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(4) การบริหารของเมืองพัทยามิได้ใช้รูปแบบของสภา - ผู้จัดการเมืองอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือ การบริหารรูปแบบดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ในขณะที่ระบบแบบที่ใช้ในเมืองพัทยานั้น สภามาจากการเลือกตั้งกึ่งหนึ่ง (9 คน) ส่วนอีกกึ่งหนึ่ง (8 คน) มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้สภาของเมืองพัทยาไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะถูกครอบงำจากส่วนอื่นที่ทำหน้าที่กำกับดูแล


กำลังโหลดความคิดเห็น