xs
xsm
sm
md
lg

กทม.รับฟัง “ร่างบัญญัติก่อนปรับค่าเก็บขยะ” ตามกม.สธ. -จ่อยกร่างปรับเพิ่ม 10 ปี 3 ระยะเดือนละ 135 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม.เปิดรับฟังผู้เกี่ยวข้อง “ร่างข้อบัญญัติกทม.”ก่อนปรับค่าธรรมเนียมจัดเก็บสิ่งปฏิกูล-มูลฝอย ตามกฎหมายสาธารณสุข ฉบับใหม่ ทั้งออกใบอนุญาตเอกชนเก็บขนขยะ เพิ่มค่าใบอนุญาตจัดตั้งตลาด เพิ่มค่ากำจัดขยะติดเชื้อ เผยจ่อเสนอฝ่ายบริหาร ยกร่างข้อบัญญัติปรับค่าขยะ เพิ่ม 3 ระยะภายใน 10 ปี-เสนอปรับค่าขยะตามต้นทุน เดือนละ 135 บาท

วันนี้ (3 ส.ค.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า ในวันที่ 7 ส.ค. นี้จะเป็นวันสุดท้ายที่ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้จัดให้มีรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร และเว็บไซต์ของสำนักสิ่งแวดล้อม ต่อร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ.... ทั้งนี้ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านและนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมาย ตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

สำหรับอัตราการดำเนินกิจการตามกฎหมายว่าด้วยสาธารณสุขนั้น จะมีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากเดิม อาทิ ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตจัดตั้งตลาดที่มีแผงค้ามากกว่า 100 แผง ปรับเป็น 4,000 บาท หรือการออกใบอนุญาตให้เอกชนดำเนินกิจการรับทำการเก็บขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยโดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าดำเนินการ ในส่วนของการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ร่างข้อบัญญัติใหม่จะคิดค่าธรรมเนียมในอัตรา 15,000 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ การสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด Bangkok Clean and green โดยมีผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ตลาดสด โรงเรียนสังกัด กทม. โรงเรียนเอกชนระดับประถมศึกษา และวัดในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและอาชีวะอนามัยของสถานประกอบกิจการ และการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของอาคารที่พักอาศัยให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคเอกชน ผู้ประกอบการ คนงาน ชุมชนและประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ กทม.มุ่งเน้นให้มีการลดปริมาณขยะ ส่งเสริมการจัดการขยะ มีการคัดแยกขยะ ลดใช้ทรัพยากร เช่น การแปรรูปเป็นพลังงาน การนำกลับมาใช้ใหม่ และการจัดการขยะจากต้นทาง และเพื่อเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีจึงได้มีกิจกรรมทอดผ้าป่ารีไซเคิลขยะสร้างบุญ เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่และสิ่งของเหลือใช้ ในชุมชน ซึ่งสำนักงานเขตต่าง ๆ ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคัดแยกขยะและดูแลสภาพแวดล้อมในชุมชน ตลอดจนช่วยลดปริมาณขยะ และสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองนั้น ได้มีการให้บริการประชาชนโดยจะมีการแจ้งล่วงหน้าให้ประชาชนรับทราบจะได้นำขยะชิ้นใหญ่มาทิ้งตามบริเวณที่ กทม.ได้แจ้งไว้.

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยของกรุงเทพมหานครให้เหมาะสม ไม่เป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนมากเกินไป สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม บริบทพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ควบคู่กับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงรายได้ของประชาชน ทั้งนี้ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต หนังสือรับรองการแจ้ง และการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ.2559 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

สำหรับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ในข้อ 3 ให้ยกเลิก ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2546 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548

ข้อ 4 บรรดาข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคาสั่งอื่นใดซึ่งขัดหรือแย้งในส่วนที่ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ได้ตราไว้แล้ว ให้ใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้แทน ข้อ 5 ให้ผู้มีหน้าที่เสียค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยชาระ ค่าธรรมเนียมตามที่กาหนดในบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ และข้อ 6 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ และให้มีอานาจออกข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้

มีรายงานด้วยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม สภา กทม. ได้มีการศึกษา ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมกำจัดขยะมูลฝอย เนื่องจากในปัจจุบัน กทม.มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมูลฝอย 6,985 ล้านต่อปี แต่ค่าธรรมเนียมจัดเก็บได้เพียงปีละ 496 ล้านบาทซึ่งโดยเฉลี่ย กทม.ต้องใช้เงินในการจัดการขยะบ้านละ 226 บาทต่อเดือน แต่เก็บค่าธรรมเนียมได้จริง 20 บาทต่อเดือน คณะกรรมการจึงคิดเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ กทม.กำหนดตามต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แท้จริง ซึ่งมีอัตราสูงกว่าที่กระทรวงกำหนด

ได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บจากต้นทุนการดำเนินการที่แท้จริง สำหรับบ้านเรือนที่มีมูลฝอยไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือ 120 กก.ต่อเดือน ต้นทุนเท่ากับ 226 บาทต่อเดือน เสนอให้จัดเก็บ 135 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของต้นทุน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯเสนอแนวทางปรับค่าธรรมเนียม แบ่งเป็น 3 ระยะคือ

ระยะที่ 1 (ปีที่ 1-5) จัดเก็บค่าเก็บขนรวมค่ากำจัดมูลฝอย 80 บาทต่อเดือน โดยประมาณการค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บได้เท่ากับ 1,984 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่า ระยะที่ 2 (ปีที่ 6-10) จัดเก็บ 110 บาทต่อเดือน ประมาณการค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บได้เท่ากับ 1,984 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่า

ระยะที่ 2 (ปีที่ 6-10) จัดเก็บ 110 บาทต่อเดือน ประมาณการค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บได้ 2,729 ล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 5.5 เท่า และระยะที่ 3 ปีที่ 11 เป็นต้นไป จัดเก็บ 135 บาท/เดือน ประมาณการค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บได้ 3,348 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้น 6.75 เท่า

โดยผลการศึกษาและแนวทางดังกล่าวเป็นส่วนที่จะเสนอให้ กทม.นำไปพิจารณาประกอบการยกร่างเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุป ทั้งนี้ กทม.ตั้งเป้าการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวภายในปี 2562 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะในเมือง.






กำลังโหลดความคิดเห็น