ป้อมพระสุเมรุ
ยังไม่มี “ข่าวดี” สำหรับการแก้ปัญหา การประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ Illegal Unreported and Unregulated Fishing (IUU Fishing) ที่ประเทศไทยถูก “สหภาพยุโรป” (EU) ชัก “ใบเหลือง” ตั้งแต่ปี 2558 นู่น
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา “รัฐบาล คสช.” ทุ่มเทแก้ไขปัญหา IUU มาอย่างต่อเนื่อง ถูกบ้าง ผิดบ้าง จนแล้วจนรอด “EU” ก็ยังไม่ปลดใบเหลืองให้ เหมือนอย่างที่ “บิ๊กรัฐบาล” โพนทะนาไว้ซักที
ล่าสุด “บิ๊กฉัตร” พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ที่กำกับดูแลการแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่สมัยยังเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ ก็ออกมา “ขายฝัน” อีกครั้ง
โดยระบุว่า มี “สัญญาณดี” จากทาง “EU” เมื่อที่ประชุมใหญ่คณะกรรมาธิการการประมงแห่งรัฐสภายุโรป ได้อนุมัติให้ “ทูตแสบ” วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายกับสหภาพยุโรป พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงความก้าวหน้าการทำงานของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา
ซึ่ง “รองฯฉัตร” เคลมว่าเป็นท่าทีที่ “เป็นบวก” เนื่องจากคณะกรรมาธิการการประมงแห่งรัฐสภายุโรปถือเป็นกลไกนโยบายระดับสูงที่มีความสำคัญมาก
พร้อมกันนี้ยังระบุด้วยว่า “ผู้แทน EU” จะเดินทางมาตรวจสอบความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาในเดือนก.ย.นี้ ก่อนที่จะพิจารณาประเมินมาตรฐานการทำประมงของไทยอีกครั้ง จาก “กำหนดการ” ดังกล่าว กลายเป็น “โอกาส” ให้รัฐบาลเร่งคลอดมาตรการแก้ไขปัญหาออกมาอีกระลอก
โดยเฉพาะการ “ปัดฝุ่น” โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน หรือ “ซื้อเรือคืน” ตามแผนบริหารจัดการประมงทะเล ที่ คณะรัฐมนตรี เคยเห็นชอบไว้ตั้งแต่ 3 พ.ย.58 ขึ้นมาอีกครั้ง
ซึ่ง “บิ๊กฉัตร” ระบุถึงคุณสมบัติเรือประมงที่จะเข้าโครงการว่า จะต้องเป็นเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง แจ้งจุดจอด ตรึงพังงา และจัดทำอัตลักษณ์เรือ (UVI) กับ กรมเจ้าท่า ไว้เรียบร้อยแล้ว ที่สำคัญต้องไม่มีคดีความใดๆ ค้างคาด้วย
กำหนดราคาซื้อตามสภาพจริง แต่จะไม่เกิน 50 % ของราคากลางที่ได้จัดทำไว้ ตั้งแต่ปี 2558 โดยมีเรือประมงที่เข้าข่าย จำนวน 680 ลำ ด้วยวงเงินประมาณ “3,000 ล้านบาท”
“การซื้อเรือคืนครั้งนี้นอกจากเป็นการลดจำนวนเรือประมงให้เหมาะสมกับปริมาณปลาเพื่อการประมงที่ยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแก้ไขปัญหา IUU อีกด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณชาวประมงทุกท่าน สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันทำงานกับภาครัฐมาเป็นอย่างดีโดยตลอด” พล.อ.ฉัตรชัย ว่าไว้
ตีความง่ายๆ ก็คือ รัฐควักกระเป๋าซื้อเรือที่ผิดกฎหมาย เพื่อนำออกจากระบบดื้อๆ จะได้ไม่ไปก่อเรื่องที่สุ่มเสี่ยงผิดข้อตกลงกับทางสหภาพยุโรปอีกนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง คาดการณ์ว่า ไม่เกินกลางเดือน ส.ค.นี้ เพื่อให้ซื้อเรือคืนระยะแรกดำเนินการได้ภายใน 30 ก.ย.นี้
หากย้อนกลับไป “โครงการซื้อเรือคืน” ที่ว่านี้ เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เนื่องจากไม่ได้ตอบโจทย์พฤติกรรมการทำประมงที่เข้าข่าย “IUU” แต่อย่างใด และมองว่า แทนที่จะใช้กฎหมายดำเนินการกับเรือประมงเหล่านั้น รัฐกลับต้องแบกภาระไปซื้อมา โดยที่ไม่สามารถทำประโยชน์อันใดได้
เห็นว่าจะนำไปจมเพื่อทำปะการังเทียม จนอาจพูดได้ว่าเป็นการนำงบประมาณแผ่นดิน 3,000 ล้านบาทไปถมทะเลเล่นก็คงไม่ผิดข้อสังเกตดังกล่าวมีผลให้โครงการถูกพับมาร่วม 3 ปี การรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมา จึงถูกจับตามองถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
เพราะเมื่อลงลึกในรายละเอียด ก็ยิ่งพบว่าเกิด “ความไม่ชอบมาพากล” บางประการเคลือบแฝงอยู่
โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศรายชื่อเรือ พร้อมชื่อเจ้าของเรือ ที่เข้าร่วมโครงการซื้อเรือคืนออกมา ปรากฏว่า ส่วนใหญ่เจ้าของไม่ใช่ “ชาวประมงรากหญ้า” แต่เป็น “นายทุนใหญ่” แทบทั้งสิ้น บางรายมีชื่อที่จะได้รับการซื้อเรือถึงมากกว่า 10 ลำด้วยกัน
อีกทั้งยังมีข้อมูลระบุด้วยว่า หลายๆ ลำในรายชื่อ เป็นเรือที่ไม่มีการใช้งานมานาน จอดเทียบท่ามานานนับ 10 ปี ไม่เท่านั้น “เจ้าของเรือ” บางรายก็ยังติดคดี มีหมายจับในคดีค้ามนุษย์อีกต่างหาก
จนอดห่วงไม้ได้ว่า งบประมาณ 3,000 ล้านบาท อาจต้องสูญเสียไปฟรีๆ โดยไม่ได้ก่อมรรคผลให้กับการแก้ไขปัญหา IUU แม้แต่น้อย
เสมือนหนึ่งนำเงินไปประเคนให้กับ “นายทุน” แลกกับเรือที่หมดสภาพ ที่จอดคาท่า ไม่ได้ออกมาเพ่นพ่าน สร้างปัญหาซะอย่างนั้นจนอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไม “บิ๊กฉัตร” ถึงยังจับจ้องอยู่กับโครงการที่ “ฉาบฉวย” ไม่ “ยั่งยืน” ตามชื่อโครงการแม้แต่น้อย
ที่มาที่ไปของโครงการนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยที่ “บิ๊กฉัตร” ยังเป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์ โดย “ทีมงานบิ๊กฉัตร” ได้รังสรรค์รูปแบบโครงการซื้อเรือคืนขึ้น หลังจากถูก EU ชักใบเหลืองให้ไม่นาน แต่ก็ถูกแรงต้าน จนต้องแขวนโครงการไว้หลายปี ตามที่ว่าไปข้างต้น
บังเอิญว่า “บิ๊กฉัตร” ได้แต่งตั้ง “เสี่ยจ๊ะ” ธนพร ศรียากูล เป็นที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อเดือน ก.ย. 58 และ “เสี่ยจ๊ะ” มีเพื่อนคู่คิดคนหนึ่งชื่อ มงคล สุขเจริญคณา มหาเศรษฐีผู้กว้างขวางวงการไต้ก๋ง-ตังเก แถบแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม เคยเป็นประธานสหกรณ์ประมงแม่กลอง, นายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม, นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม จนปัจจุบันก็มีตำแหน่งเป็น นายกสมาคมประมงแห่งประเทศไทย
อย่าลืมว่า “เสี่ยจ๊ะ” มีอีกสถานะเป็น หัวหน้าพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย โดยว่ากันว่าจะมี “เสี่ยมงคล” เป็นผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.ที่ จ.สมุทรสงคราม ในนามพรรคนี้ด้วย
ในช่วงที่ “บิ๊กฉัตร” เป็นใหญ่อยู่ที่ “กระทรวงพญานาค” ก็มักมีแอกชัน “เชิงบวก” จากสมาคมประมงฯผ่านการประสานของ “เสี่ยจ๊ะ” อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนหลุดจากเก้าอี้ รมว.เกษตรฯ มาเป็นรองนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ก็ม็อบจากสมาคมประมงฯ บุกไปเซอร์ไพร์สให้กำลังแบบวันเว้นวัน
หลังมาประจำการเป็นรองนายกฯ แล้ว “เสี่ยมงคล” ก็ยังนำทีมงานสมาคมประมงฯ ตามมายื่นข้อเสนอแก้ไขปัญหาการทำประมงหลายหน เพื่อเมกชัวร์ว่า การแก้ไขปัญหา IUU ต้องเป็น “บิ๊กฉัตร” ดูแลเท่านั้น ซึ่ง “เพื่อนตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่หักหาญน้ำใจ “เพื่อนฉัตร” โดยให้เป็น ประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ต่อไป
และเมื่อ “โครงการซื้อเรือคืน” งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง ภาพของ “เสี่ยจ๊ะ - เสี่ยมงคล” ก็ลอยเด่นขึ้นมาอีกครั้งเช่นกัน
ภาพของ “บิ๊กฉัตร” ที่อยู่ในโผ “เพื่อนลุงตู่” ที่แต่งเนื้อแต่งตัวเตรียม “ไปต่อ” หลังเลือกตั้ง ก็ลอยเด่นขึ้นมาเช่นกัน
ยิ่งเมื่อรายชื่อเรือที่ได้เข้าโครงการหลุดออกมาท่ามกลางเครื่องหมายคำถามมากมาย ในลักษณะหว่านแห ซื้อหมด ไม่สนใจว่าเป็นเรือที่ใช้งานจริงอยู่ หรือถูกต้องตามคุณสมบัติ มีคดีติดค้างหรือไม่ จนน่ากลัวว่าอาจจะ “ตกหล่น” หรือไม่อย่างไร
แถมมีเสียงร่ำลือในวงการว่า มีวาระ “ยัดไส้” ทำให้งบประมาณบวมเป่ง เพื่อตุน “ทุนการเมือง” ไว้สำหรับเตรียมการเลือกตั้ง โดยอาศัยการแก้ปัญหา “ตังเก” บังหน้าอีกด้วย.