xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ค้าน ก.พลังงาน เปิดช่องเอกชนใช้ก๊าซในประเทศผลิตไฟฟ้า-แถมอุดหนุน “ค่าความพร้อมจ่าย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลัง ค้านกระทรวงพลังงานเปิดช่องเอกชนใช้ก๊าซในประเทศเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เท่ากับใช้ทรัพยากรของส่วนรวมเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ซ้ำยังอุดหนุน “ค่าความพร้อมจ่าย” โดยอ้างเงื่อนไขเดียวกับ กฟผ.เป็นการอุดหนุนการลงทุนขอของเอกชนเกินจำเป็น และผู้รับภาระสุดท้ายคือประชาชนผู้บริโภค

วันนี้ (29 ก.ค.) นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณีกระทรวงพลังงานระบุเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer- IPP) กล่าวคือ

1) ให้ผู้ผลิตเอกชนเป็นผู้เสนอเชื้อเพลิง โดยรัฐจะให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงที่สะอาด เป็นที่ยอมรับของประชาชน ราคามีเสถียรภาพ มีความแน่นอนในการจัดหา และส่งเสริมนโยบายของรัฐในการกระจายแหล่งพลังงานของประเทศ ได้แก่ พลังงานนอกรูปแบบ (ไม่รวมนิวเคลียร์) ก๊าซธรรมชาติทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ถ่านหิน และออริมัลชั่น

2) กำหนดอัตราค่าไฟฟ้า เป็นสองส่วน
ส่วนที่ 1 กำหนดจากต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าของเอกชน และค่าใช้จ่ายคงที่อื่นๆ (Fixed Costs) ซึ่งเรียกว่า “ค่าความพร้อมจ่าย” (Availability Payment) รัฐจะให้ “ค่าความพร้อมจ่าย” แก่เอกชนตลอดเวลา ไม่ว่า กฟผ.จะสั่งให้ผู้ผลิตเอกชนเดินเครื่องหรือไม่

ส่วนที่ 2 กำหนดจากค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายผันแปรอื่นๆ ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเรียกว่า “ค่าพลังงานไฟฟ้า” (Energy Payment) โดย “ค่าพลังงานไฟฟ้า” จะเกิดขึ้นเมื่อ กฟผ. สั่งให้ผู้ผลิตเอกชนเดินเครื่อง ดังนั้น จึงจะผันแปรไปตามราคาเชื้อเพลิงเป็นหลัก

นายธีระชัย วิจารณ์ว่า โมเดลนี้มีจุดอ่อนที่ “ค่าความพร้อมจ่าย” กระทรวงพลังงานอธิบายเหตุผล ที่ให้ “ค่าความพร้อมจ่าย” แก่เอกชนว่า ในกรณีที่เป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เอง แม้ว่าโรงไฟฟ้าจะไม่เดินเครื่อง กฟผ. ก็ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย เงินต้น และค่าใช้จ่ายคงที่อื่นๆ เช่นกัน ดังนั้น การจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ให้แก่เอกชน จึงอยู่บนหลักการเดียวกัน และกระทรวงพลังงานอ้างว่าเงื่อนไขนี้ มีลักษณะสากล ประเด็นนี้ขอเห็นแย้ง

นายธีระชัย ยังเห็นว่า เป็นการเลือกเชื้อเพลิงที่ผิดพลาด เพราะการที่เอกชนจะสร้างมูลค่าเพิ่มในการผลิตไฟฟ้าให้แก่ประเทศนั้น เอกชนจะต้องทำในสิ่งที่ กฟผ.ไม่ทำ ดังนั้น การยินยอมให้เอกชนใช้ก๊าซภายในประเทศเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ จึงเป็นนโยบายที่ผิดพลาด เพราะไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศเลย กฟผ. ทำอย่างนี้ได้เองอยู่แล้ว แต่กลายเป็นช่องทางที่ให้เอกชน ใช้ทรัพยากรของส่วนรวมเพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยที่ประชาชนผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์ใดเพิ่มขึ้น

ส่วนข้ออ้างว่า วิธีการนี้จะทำให้ กฟผ.เร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องเอาเอกชนเข้ามาบีบ เพราะสามารถประเมินผลงานอย่างเข้มข้นได้อยู่แล้ว โดยเปรียบเทียบ operating ratios กับกิจการของประเทศอื่นๆ

ในประเด็นการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า โดยให้คิดจาก “ค่าความพร้อมจ่าย” ด้วยนั้น นายธีระชัย เห็นว่า เป็นการอุดหนุนเงินลงทุนของเอกชนเกินจำเป็น เพราะการให้ “ค่าความพร้อมจ่าย” แก่เอกชนนั้น มีผลเท่ากับรัฐจ่ายเงินชดเชยต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของเอกชน และค่าใช้จ่ายคงที่อื่นๆ (Fixed Costs)

ทำไมรัฐต้องใจดีเป็นพิเศษกับเอกชนที่ทำธุรกิจนี้?

กระทรวงพลังงานพยายามอธิบายว่า เป็นหลักการเดียวกับที่ใช้กับ กฟผ. กล่าวคือ แม้ กฟผ. จะไม่เดินเครื่อง แต่ กฟผ. ก็มีภาระจากเงินลงทุน

“แต่ผมอธิบายใหม่แบบง่ายๆ เหตุผลที่สมควรใช้หลักการนี้กับ กฟผ. ก็เพราะว่า กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐเป็นเจ้าของ 100% ดังนั้น ในการอุดหนุนเงินลงทุนให้แก่ กฟผ.นั้น ทรัพย์สินที่ กฟผ. ลงทุน จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนตลอดไปจนกว่าจะเสื่อมสภาพ แต่ผมมองไม่เห็นเหตุผล ที่รัฐจะต้องไปอุดหนุนเงินลงทุนให้แก่เอกชน เพราะทรัพย์สินไม่ใช่ของรัฐ แค่รัฐยอมซื้อไฟฟ้าตามปริมาณที่ตกลงก็พอแล้ว หรือถ้าหากรัฐจะอุดหนุน ก็ต้องกำหนดเงื่อนไขว่า เมื่อใดที่รัฐจ่ายเงินครบจำนวนเงินลงทุน ก็ต้องโอนทรัพย์สินให้ตกเป็นของรัฐ เมื่อสิ้นสุดสัญญา แต่ผมไม่พบว่ามีเงื่อนไขนี้”

ดังนั้น การที่รัฐอุดหนุนเงินลงทุนให้แก่เอกชน จึงผิดหลักเศรษฐศาสตร์ และกิจการอื่นที่ขายของให้แก่รัฐ ก็ไม่เห็นรัฐอุดหนุนแบบนี้ ทั้งนี้ “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่รัฐจ่ายให้แก่เอกชนนั้น ผู้ที่รับภาระสุดท้าย ก็คือประชาชนผู้บริโภคนั่นเอง ดังนั้น กระทรวงพลังงานควรจะให้ข้อมูลแก่ประชาชนให้ชัดเจน มีประเทศใดบ้าง ที่รัฐจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ให้แก่เอกชนเหมือนประเทศไทย

นอกจากนี้ ในหลักเศรษฐศาสตร์ ถ้าหากรัฐจะให้หลักประกันระดับหนึ่งแก่เอกชน ก็ควรจะยึดหลักว่า เอกชนไม่ควรต้องรับความเสี่ยงในเชิงนโยบายของรัฐ แต่เอกชนยังควรต้องรับความเสี่ยงในเชิงธุรกิจ โดยให้เอกชนประมูลแข่งขันราคาขายไฟฟ้าต่ำสุด และรัฐประกันแต่ปริมาณรับซื้อไฟฟ้าเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง ตามราคาที่ชนะประมูล เพียงเท่านั้น แต่รัฐไม่ควรให้ “ค่าความพร้อมจ่าย”





กำลังโหลดความคิดเห็น