ศาลตลิ่งชันนัดไต่สวนเพื่อวินิจฉัยรับดำเนินคดีแบบฟ้องกลุ่ม เอาผิด "เมืองไทย แคปปิตอล" เรียกดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หลังผู้เสียหาย 15 รายรวมตัวฟ้อง เรียกคืนดอกเบี้ยที่เก็บเกินพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 คาดเรียกย้อนได้ 5 ปี ยอดรวมทั้งหมดกว่าหมื่นล้าน
นายทรงวุฒิ กลิ่นพาณิชย์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกลุ่มพิทักษ์สิทธิลูกหนี้ เปิดเผยว่า วันนี้(23 ก.ค.)ศาลจังหวัดตลิ่งชัน นัดพิจารณาเพื่อไต่สวนในคดีที่มีกลุ่มผู้เสียหายจำนวน 15 คน ได้รับความเดือดร้อนจากการถูก บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยผู้เสียหายทั้ง 15 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในผู้เสียหายนับล้านรายที่ใช้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบการให้กู้ยืมสินเชื่อรถประเภทต่างๆ รายใหญ่อันดับ 1 ที่มีสาขากว่า 2,638 สาขา โดยร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม
นายทรงวุฒิ กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาการฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจาก บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งไม่ได้เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 654 โดยการคิดดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด คือ เกินกว่า 15% โดยกลุ่มผู้เสียหายขอให้ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) คืนเงินค่าดอกเบี้ยที่เรียกเก็บเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้กับผู้เสียหายสมาชิกกลุ่ม และผู้เสียหายรายอื่นๆ ที่มาใช้บริการที่ลักษณะความเสียหายเช่นเดียวกัน พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับจากวันที่คิดดอกเบี้ยเกิน ประเมินว่ายอดเงินที่จะเรียกคืนให้กับผู้เสียหายย้อนหลังไปได้ห้าปี เป็นยอดกว่าหมื่นล้านบาท โดยคิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของบริษัทย้อนหลัง 5 ปี ตามที่ปรากฏในงบการเงินที่นำส่งกับหน่วยงานราชการ หากศาลวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดจริง
"แนวทางการต่อสู้ คือ พวกเราจะยึดประเด็นแนวกฎหมายที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5298/2551 ประเด็นการคิดดอกเบี้ยคงที่ (Flat rate) เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติ (Effective rate) หากเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13835/2553 ประเด็นเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของบริษัทจำกัดที่ไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยปกติที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อเรียกแตกต่างออกไป แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่ได้จากการกู้ยืมเงิน
ดังนั้น เงินที่คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 ประเด็นหากเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ดอกเบี้ยทั้งหมดจะตกเป็นโมฆะ
สำหรับคดีนี้เหมือนกับคดีของ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ก็เป็นอีกหนึ่งจำเลยในคดีที่คล้ายกัน คือ เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา แหล่งข่าวแจ้งว่ามีกลุ่มผู้เสียหายยื่นฟ้องแบบกลุ่มเพื่อเรียกค่าเสียหายในส่วนของดอกเบี้ยที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยมีกำหนดนัดไต่สวนนัดแรก วันที่ 27 สิงหาคม 2561 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดา