ไฟเขียวแก้ผังเมืองรวมอุตสาหกรรมและชุมชนแหลมฉบัง รองรับ “โครงการซีเนียร์ (ผู้สูงอายุ) คอมเพล็กซ์ บางละมุง จ.ชลบุรี” หรือ คอนโดมิเนียมระฟ้าติดริมทะเล กว่า 632 ยูนิต บนพื้นที่ 48 ไร่ ของ พม. ด้าน “สภาพัฒน์” แนะ กรมโยธาฯ-ท้องถิ่น ติดตาม “แผนก่อสร้าง” ให้ความสำคัญ “อีไอเอ” อย่างเข้มงวด ป้องกันผลกระทบต่อประชาชน เน้นแผนการจัดประโยชน์ให้สอดคล้องกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เถียงท่าเรือ-นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง-สถานีขนถ่ายผลิตภัณฑ์ทางรถไฟของ ปตท. หวั่นผลกระทบต่อผู้สูงอายุและผู้อยู่อาศัยโดยรอบ
วันนี้ (20 ก.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมและชุมชนแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมและชุมชมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2555 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการบางบริเวณให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการเกี่ยวกับโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ยังให้กระทรวงมหาดไทย รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่เห็นควรให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กำกับดูแลให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นควบคุม “การก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” และให้ความสำคัญกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งนำข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการเกี่ยวกับโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุภายใต้การควบคุมของรัฐที่ปรับปรุงไปประกอบการพิจารณาจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
“สภาพัฒน์ เห็นว่า ร่างกฎกระทรวง ที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เสนอ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญ้ติการผังเมือง พ.ศ. 2518 อย่างครบถ้วน โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถมีทางเลือกในการอยู่อาศัยอย่างมืคุฌภาพชีวิตที่ดีในโครงการที่พักอาศัย สำหรับผู้สูงอายุบริเวณบางละมุง จังหวัดชลบุรี อย่างไรก็ดี เนื่องจากพื้นที่โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุมืพื้นที่ใกล้เถียงท่าเรือแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และสถานีขนถ่ายผลิตภัณฑ์ทางรถไฟของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้สูงอายุและผู้อยู่อาศัยโดยรอบ กรมโยธาธิการและผังเมือง ควรกำกับดูแล ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นควบคุมการก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และให้ความสำคัญกับการดูแล ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งนำข้อกำหนด ที่ปรับปรุง ไปประกอบการพิจารณาจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไป”
มีรายงานว่า ขณะนี้ โครงการ “ซีเนียร์ (ผู้สูงอายุ) คอมเพล็กซ์ บางละมุง” หรือ โครงการการสร้างศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยอาคารที่พักอาศัยบนที่ดินราชพัสดุ ขนาดพื้นที่ 48 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา จำนวน 14 อาคาร 632 ยูนิต แบ่งเป็น อาคารสูง 4 ชั้น จำนวน 4 อาคาร (ติดริมทะเล) และอาคารสูง 5 ชั้น จำนวน 10 อาคาร ซึ่งทุกอาคารเปิดมุมมอง ไปยังทะเล โดยดำเนินงานภายใต้คณะทำงาน 4 คณะ ประกอบด้วย 1) คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 2) คณะทำงานบริหารโครงการศูนย์ที่พักอาศัยผู้สูงอายุแบบครบวงจร 3) คณะทำงานบริหารงบประมาณการก่อสร้างศูนย์ที่พักอาศัยผู้สูงอายุแบบครบวงจร และ 4) คณะทำงานด้านการตลาดและการขาย
ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ทางกระทรวง พม. โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง การเคหะแห่งชาติ (กคช.) สภากาชาดไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดยแผนปฏิบัติงาน โครงการ “ซีเนียร์ (ผู้สูงอายุ) คอมเพล็กซ์ บางละมุง” ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยเริ่มดำเนินการในเรื่อง 1) การเสนอเรื่องขอแก้ไขกฎกระทรวงโดยเพิ่มข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ (พื้นที่สีน้ำเงิน) 2) การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ (Feasibility Study : FS) 3) การเสนอผนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use) และการออกแบบอาคาร ระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ และภูมิสถาปัตยกรรม 4) การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 5) กระบวนการ จัดซื้อจัดจ้าง 6) การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง กระทรวง พม. โดย ผส. ร่วมกับ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง การเคหะแห่งชาติ (กคช.) สภากาชาดไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 7) การขออนุญาต การก่อสร้างกับหน่วยงานท้องถิ่น 8) การจัดพิธีวางศิลาฤกษ์ 9) การจัดงาน Pre Sale และ 10) การเริ่มก่อสร้างโครงการ
โครงการดังกล่าว มีการทำเอ็มโอยูกันระหว่าง กรมบัญชีกลางและกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กรมโยธาธิการและ ผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สภากาชาดไทย และบริษัท แอลพีเอ็นดีแวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันเทศบาลนครแหลมฉบังมีพื้นที่รับผิดชอบ 109 ตารางกิโลเมตร อยู่ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอศรีราชา และอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี ในพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 200 บริษัท ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ส่วนมากเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน และมีอุตสาหกรรมปิโตรเลียม คือ โรงกลั่นน้ำมันของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และโรงกลั่นน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน บริษัท ไทยลูบเบส จำกัด (มหาชน) และคลังเก็บน้ำมันปิโตรเลียม 3 แห่ง คือ คลังเก็บน้ำมันของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคลังเก็บก๊าซ LPG ซึ่งเป็นก๊าซหุงต้ม 3 แห่ง คือ คลังเก็บก๊าซ LPG ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน).