ทีมโฆษกรัฐเผย ครม.เห็นชอบร่างข้อตกลง “ส่งผู้ลี้ภัยสงครามพม่า” กลับประเทศเกือบแสนคน ตั้งงบดูแล 3.5 ล้านบาท
วันนี้ (17 ก.ค.) เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุม ครม.มีมมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอร่างข้อตกลงการส่งตัวผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ที่อาศัยอยู่ในแหล่งพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนทั้งสิ้น 9 แห่ง ประกอบด้วย จ.แม่ฮ่องสอน 4 แห่ง จ.ตาก 3 แห่ง จ.กาญจนบุรี 1 แห่ง และ จ.ราชบุรี 1 แห่ง โดยมีผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบทั้งหมด ประมาณ 99,700 คนตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแนวทางสำหรับส่งตัวผู้หลบหนีภัยกลับไปยังประเทศต้นทาง โดยได้มีการดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทางไปแล้ว 2 ครั้ง ทั้งหมด 164 ราย ครั้งที่ 1 จำนวน 71 ราย และครั้งที่ 2 จำนวน 93 ราย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างคณะทำงานของทั้ง 2 ประเทศ โดยได้ออกข้อตกลงร่วมสำคัญ ได้แก่ 1. ทั้งไทยและพม่าจะทำงานร่วมกันในลักษณะเป็นมิตร เพื่อส่งตัวผู้หลบหนีภัยกลับไปยังประเทศต้นทาง ด้วยความสมัครใจ ปลอดภัย และยั่งยืน 2. ทางพม่าจะจัดกลุ่มผู้หลับหนีภัยแยกเป็นประเภท เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการพิสูจน์ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีถิ่นกำเนิดที่สามารถยืนยันอย่างชัดเจน กลุ่มที่มีจุดหมายปลายทางอย่างชัดเจน และกลุ่มที่มีความต้องการด้านวิชาชาชีพ โดยฝ่ายไทยจะเป็นผู้แจกจ่ายแบบฟอร์มสำหรับผู้หลบหนีภัยแต่ละประเภท และ 3. สำหรับกลุ่มที่จะกลับไปตั้งถิ่นฐานในเมียนมาแน่นอน ได้มีการกำหนดให้ใช้จุดผ่านแดนที่ใกล้พื้นที่พักพิงให้ได้มากที่สุด ได้แก่ จุดผ่านแดนแม่สอด-เมียวดี จ.ตาก และจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ทั้งนี้ กระทรวงต่างประเทศได้ตั้งงบประมาณสนับสนุนแก่ผู้หลบหนีภัยไว้แล้วจำนวน 3.5 ล้านบาท
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เคยประกาศเป็นหนึ่งในนโยบาย ว่าประเทศไทนพร้อมที่จะช่วยเหลือประเทศอื่น โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยสงคราม ตามกติกาสากลที่ทุกประเทศต้องทำ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเองต้องคำนึงถึงความพร้อมและความปลอดภัยของประเทศไทยด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปประเทศต้นทางมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น และผู้หลบหนีภัยเองมีความประสงค์จะกลับประเทศ ซึ่งต้องมีความปลอดภัย และสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลไทยยินดีจะดำเนินการ” พล.ท.สรรเสริญกล่าว