xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ไฟเขียวหลักการ 5 พ.ร.บ.ขึ้นเงินเดือนองค์กรอิสระ “วิษณุ” ยันยึดหลักเป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภานิติบัญญัติ (แฟ้มภาพ)
ประชุม สนช.เคาะมติเห็นชอบหลักการ 5 พ.ร.บ.ขึ้นเงินเดือนศาล ตุลาการ องค์กรอิสระ “วิษณุ” แจงยึดหลักเป็นธรรมยึดโยงกับหน่วยงานอื่น

วันนี้ (12 ก.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) มีมติเห็นชอบในหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2. ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 3. ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 4. ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ 5. ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการปรับขึ้น เงินเดือนศาล องค์กรอิสระเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยจะมีผลย้อนหลังไปถึง พ.ศ. 2557 เว้นแต่กรณีของกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติ ที่จะมีผลย้อนไปตั้งแต่ พ.ศ. 2548 โดยรัฐบาลเตรียมงบประมาณไว้ประมาณ 450 ล้านบาท

สำหรับบัญชีอัตราเงินเดือนและประจำตำแหน่ง มีดังนี้ 1. ข้าราชการตุลาการ ประธานศาลฎีกา เงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท

2. ตุลาการศาลปกครอง ประธานศาลปกครองสูงสุด เงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท

3. ศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 83,090 บาท และเงินประจำตำแหน่ง 55,000 บาท ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท

4. ข้าราชการอัยการ อัยการสูงสุด เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท

5. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เงินเดือน 81,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท และผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์อิสระ เงินเดือน 80,540 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ยึดหลักเป็นธรรมให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และยึดโยงกับตำแหน่งข้าราชการอื่นๆที่ได้ปรับไปก่อนหน้านี้ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทำนองทำไมจะต้องมาพิจารณาขึ้นเงินเดือนในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ก็ต้องขอชี้แจงว่าส่วนหนึ่งเป็นการคำนวณโดยการนำเงินเดือนและค่าครองชีพที่เคยได้มารวมกันเป็นฐานเงินเดือนอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม อีกส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มที่ยึดโยงกับตำแหน่งที่เคยขึ้นไปก่อนหน้านี้ โดยการยึดโยงสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 1 ธ.ค. 2557 ดังนั้น การปรับขึ้นเงินเดือนจึงมีผลย้อนหลังไปถึงวันดังกล่าว ดังนั้นต่อให้ไม่ปรับขึ้นตอนนี้ แต่ไปปรับขึ้นในอนาคตก็ยังต้องมีผลย้อนหลังไปถึงวันดังกล่าวอยู่ดี ยกเว้นกลุ่มของกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่จะมีผลย้อนหลังไปถึง 1 ต.ค. 2548 เนื่องจากยังไม่มีการปรับขึ้นนานกกล่าวกลุ่มอื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น