เมืองไทย 360 องศา
ก็ต้องบอกว่าโล่งอกหายใจกันได้ทั้วท้องกันได้เสียที เมื่อหน่วยกู้ภัยสามารถเข้าไปช่วยเหลือ 13 ชีวิต ที่รวมทั้งเด็กๆ นักกีฬาฟุตบอลทีม “หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย” ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นานนับสิบวัน
แน่นอนว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ คงต้องมีการจัดตั้งองค์กรระดับชาติสำหรับภารกิจกู้ภัยในแบบที่เป็น “งานหิน” ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ให้เป็นที่รวมของบุคลากร มีอุปกรณ์การกู้ภัยทันสมัยพร้อมสรรพ แม้ว่าในปัจจุบันนี้เรามีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้วก็ตาม รวมไปถึงมีหน่วยกู้ภัยที่มูลนิธิอาสาสมัครคอยร่วมด้วยช่วยกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่สำหรับงานกู้ภัยบางเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ดังกล่าวที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญพิเศษก็น่าจะต้องมีองค์กรรวมศูนย์เป็นการเฉพาะ และสามารถระดมเครื่องไม่เครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือกู้ภัยได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์
เหมือนกับที่กรณีที่เกิดขึ้นที่ถ้ำหลวงดังกล่าว ที่เราโชคดีที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ที่ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนได้รับการชื่นชมไปทั่ว แต่ในครั้งต่อไปหากมีภัยพิบัติ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นที่อื่น ซึ่งเชื่อว่าจะต้องมีอย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ดังนั้น เชื่อว่า นับจากนี้ไปทางฝ่ายรัฐบาลคงจะต้องต้องนำเรื่องนี้มาหารือกันต่อไปว่าจะมีการองค์กรหรือมีบุคคลพิเศษ รวมไปถึงการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์สำหรับการกู้ภัยแบบพิเศษอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องเน้นเป็นพิเศษเช่นเดียวกันจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก็คือ การได้เห็นการ “รวมพลังน้ำใจไทย” ที่เป็นอีกน้อยครั้งที่ได้เห็นการร่วมไม่ร่วมมือและการเสียสละ “แบบไม่คิดชีวิต” เพียงแค่ต้องการให้ทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำ “ให้รอดปลอดภัย” ให้ได้ การรวมพลังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันแบบนี้แม้แต่คนต่างชาติยังต้องทึ่ง
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ยังได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจจากบรรดามิตรประเทศที่ส่งทั้งผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ไฮเทคเข้ามาช่วยกันอย่างเต็มพิกัด ไม่นับรวมการส่งกำลังใจเข้ามาตลอดเวลา รวมทั้งติดตามข่าวเกาะติดความคืบหน้าอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าคนทั่วโลกรู้จัก “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” รู้จักจังหวัดเชียงราย และรู้จักประเทศไทยเพิ่มขึ้น จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ไปอีก เพราะอย่างน้อยจากปากต่อปากของทีม “หน่วยกู้ภัยนานาชาติ” ที่เข้ามาช่วยเหลือ มากินนอนร่วมกับหน่วยกู้ภัยของไทย ได้เห็นน้ำใจของคนไทยที่มีความเป็นพิเศษในการต้อนรับแขกอยู่แล้ว เชื่อว่า เมื่อพวกเขากลับไปก็ต้องพูดถึง และเชื่อว่าจะต้องกลับมาอีกแน่นอน
อย่างไรก็ดี งานนี้ก็ต้องโฟกัสไปที่ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เนื่องจากถูกคำสั่งย้ายไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา โดยเป็นคำสั่งกระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ไม่มีการทบทวน เพราะมีการโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว โดยกล่าวสั่นๆ ว่า “คนดีอยู่ที่ไหนก็เจริญ”
แน่นอนว่า กรณีการโยกย้าย นายณรงศักดิ์ โอสถธนากร จากผู้ว่าฯเชียงราย ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ถูกตั้งคำถามว่าทำไมย้ายจากจังหวัดใหญ่กว่าไปจังหวัดที่เล็กกว่า แต่ตอนนั้นยังไม่เกิดเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง ทุกอย่างจึงเงียบเสียงไป แต่คราวนี้เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น และ นายณรงค์ศักดิ์ ก็แสดงบทบาทแสดงภาวะผู้นำในฐานะ “นักปกครองชั้นเยี่ยม” และเมื่อรู้ข่าวว่าถูกย้ายออกจากพื้นที่ถึงอย่างไรก็ต้องถูกตั้งคำถาม โดยเฉพาะคำถามที่มีไปถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่า สาเหตุที่ย้ายมาจากอะไรกันแน่ มีการขัดใจเรื่องอะไร หรือว่าไม่ยอมเซ็นหลายโครงการในจังหวัดเชียงรายตามที่มีเสียนินทากันหรือไม่
คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บอกว่า “คนดีอยู่ที่ไหนก็เจริญ” ก็ไม่ผิด หรือคนดีอยู่ที่ไหนก็พัฒนาให้พื้นที่นั้นก้าวหน้าก็ถูกอีก แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ “คนดีถูกรังแก” ต่างหาก เพราะงานนี้ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงกรณีของ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร คงจะเงียบหายและคงเก็บกระเป๋าจากไปอย่างเงียบๆ แต่เมื่อ “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เชื่อว่า มันคงไม่จบอยู่แค่นี้แน่ อย่างน้อยชาวบ้านก็จะมองตรงไปที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถึงสาเหตุการย้ายจากเชียงรายไปพะเยาว่ามาจากสาเหตุอะไรกันแน่
เพราะหากจะอ้างว่าคนดีอยู่ที่ไหนก็เจริญ หรือในความหมายที่ว่าย้ายจากที่ใหญ่ไปที่เล็กไม่ใช่การกลั่นแกล้งลงโทษ ดังนั้น ด้วยเหตุผลเดียวกันก็น่าจะให้นายกรัฐมนตรีลองย้าย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไปนั่งว่าการในกระทรวงที่ถูกมองว่าเป็นเกรดบีเกรดซีสักที หรือให้เห็นรัฐมนตรีช่วยว่าการก็ได้ในเหตุผล “คนดีอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้” เหมือนกัน!!