โฆษก กอ.รมน.เผย เสธ.ทบ.สั่งให้ กอ.รมน.จังหวัด สำรวจสภาพแวดล้อมในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขปัญหาและลดความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็วที่สุด
วันนี้ (20 มิ.ย.) พล.ต.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน.เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย.) เวลา 13.00 น. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้มีการประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน.ครั้งที่ 6/2561 โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ กอ.รมน.เป็นประธาน มีสาระสำคัญให้ทราบดังนี้
จากสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันที่มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องและอาจจะมีน้ำป่าไหลหลาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.ในฐานะ รอง ผอ.รมน.ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดเตรียมกำลังคน สิ่งอุปกรณ์ และทดสอบความพรั่งพร้อมเพื่อให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยต่างๆ อย่างทันท่วงที รวมไปถึงประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์ในรูปแบบประชารัฐ
จากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ กอ.รมน.ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ปัญหาหนึ่งของพี่น้องประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคมนั้น กอ.รมน.ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์ดำรงธรรม, กกล.รส., ตำรวจ เป็นต้น โดยในห้วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้ตรวจพบว่ามีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากหนี้นอกระบบจำนวน 20,118 ราย จากเจ้าหนี้จำนวน 11,272 ราย มูลหนี้รวม 3,820,512,336 บาท ผลดำเนินการได้ไกล่เกลี่ยและทำข้อตกลงแล้วจำนวน 5,812 ราย คู่กรณีไม่ยอมเจรจา 121 ราย และที่เหลืออยู่ในระหว่างดำเนินการ ซึ่งในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หน่วยงานของ กอ.รมน.จะดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนตามลำดับความเร่งด่วนของปัญหา โดยใช้มาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณี เช่น การประนอมหนี้, การเจรจาไกล่เกลี่ย, การปรับโครงสร้างหนี้, การใช้มาตรการทางกฎหมาย, การขอสินเชื่อช่วยเหลือหนี้นอกระบบตามโครงการของรัฐ เป็นต้น
นอกจากนี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการ กอ.รมน.ได้เน้นย้ำให้ กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ได้สำรวจสภาพแวดล้อมในพื้นที่อย่างใกล้ชิด นำสิ่งที่เป็นปัญหาของประชาชนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เช่น ยาเสพติด, การบรรเทาสาธารณภัย, การค้ามนุษย์, ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ, การบิดเบือนข่าวสาร, ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และนำประเด็นปัญหาต่างๆ มาบูรณาการกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ ผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน รวมถึงประสานการปฏิบัติกับพื้นที่ข้างเคียงเพื่อแก้ไขปัญหาและลดความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็วที่สุด ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ