เปิดรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมไทย ฉบับปี 2560 พบ 2 สาขา “ทรัพยากรดิน - การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ” มีสภาพเสื่อมโทรมลง เหตุที่ดินชุมชน/สิ่งปลูกสร้างรุกเพิ่ม พบ “อุณหภูมิทั้งปีเฉลี่ยสูงขึ้น - เหตุธรณีพิบัติภัยเพิ่ม” เผย 12 จังหวัด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ถูกบุกรุก “ระดับวิกฤตรุนแรง” พร้อม 5 จังหวัด วิกฤตขยะ มีปัญหาการเก็บ ขน กำจัดไม่ถูกต้อง แถมปริมาณสะสมเพิ่ม แถม 5 จังหวัดมีปริมาณของเสียอันตรายชุมชนเกิดขึ้นมากกว่า 5,000 ตันต่อปี
วันนี้ (17 มิ.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่กำกับการบริหารราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมขาติและสิ่งแวดล้อม ที่นำไปปรับเพิ่มเติมประเด็นการเพิ่มขึ้นของประชากรและบัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในร่างรายงานสถานการณ์ๆ พ.ศ. 2560 โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) 12 มิ.ย. ให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการยกร่างฯ ได้จัดประชุม จำนวน 4 ครั้ง และได้มีการนำร่างรายงานสถานการณ์ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยจัดให้มีการสัมมนา จำนวน 1 ครั้ง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ภาคเอกซน องค์กรเอกชน สื่อมวลชน ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ และภาคประชาชน โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (7 มี.ค. 61) ได้เห็นขอบกับร่างรายงานสถานการณ์ฯ และมอบหมาย ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปรับเพิ่มเติม
โดยสารสำคัญของรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย บทที่ 1 บทนำ เป็นการนำเสนอภาพรวมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกและระดับภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนนำเสนอสรุปภาพรวม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
บทที่ 2 สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขา ได้แก่ 1. ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน 2. ทรัพยากรแร่ 3. พลังงาน 4. ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า 5. ทรัพยากรน้ำ 6. ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 7. ความหลากหลายทางชีวภาพ 8. สถานการณ์มลพิษ 9. สิ่งแวดล้อมชุมชน 10. สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม และ 11. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ โดยสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขี้น ได้แก่
ด้านพลังงาน มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น ,ด้านป่าไม้ อัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ มีแนวโน้มดีขึ้น แต่พื้นที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ถูกบุกรุกในระดับวิกฤตรุนแรง 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย น่าน ลำปาง อุบลราชธานี นครราชสีมา เลย กระบี่ เชียงใหม่ ตาก และ แม่ฮ่องสอน, ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปะการังฟอกขาวฟื้นตัวดีขึ้น และปริมาณสัตว์ทะเลหายาก เกยตื้นลดลง, ด้านมลพิษ คุณภาพอากาศดีขึ้น คุณภาพน้ำผิวดินและคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งดีขึ้น
ส่วนขยะมูลฝอย มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์และได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณของขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของการบริโภคและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคการท่องเที่ยว และปัญหามลพิษที่เกิดจากการตกค้างของขยะมูลฝอยในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง ยังพบว่า พื้นที่ดำเนินการเร่งด่วน ในด้านการจัดการขยะมูลฝอย กล่าวคือ เป็นจังหวัดที่มีปัญหาในเรื่องของการเก็บขนขยะมูลฝอย การกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้อง และปริมาณขยะมูลฝอยสะสม 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และพระนครศรีอยุธยา ส่วนจังหวัดที่มีปริมาณของเสียอันตรายชุมชนเกิดขึ้นมากกว่า 5,000 ตันต่อปี จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และเชียงใหม่
ด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน พื้นที่สีเขียวต่อคน ในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น และจำนวนชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานครลดลง, ด้านสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม มีการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าเพิ่มขึ้น และโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น ยังพบว่า สาขาที่มีสถานการณ์เสื่อมโทรมลง ได้แก่ ด้านทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน มีการใช้ที่ดินเพื่อเป็นพื้นที่ชุมชน และสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น และด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงขึ้น และเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยเพิ่มขึ้น
บทที่ 3 บทสรุป การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เน้นการสรุปสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมในภาพรวม และนำเสนอประเด็นปัญหาสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การจัดการพื้นที่ป่าไม้ 2) การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และ 3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสถานการณ์และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมของประเทศ แบ่งเป็น
1) ระยะสั้น เร่งด่วน (1 - 2 ปี) ได้แก่ การปรับปรุงและผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปสู่การปฏิบัติและการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 2) ระยะยาว (3 ปี ขึ้นไป) ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมซาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน
โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เร่งด่วน ประกอบด้วย ทรัพยากรการใช้ดิน การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในรูปแบบ Smart Farmer โดยการให้ความรู้ด้านการผลิต การตลาด เทคโนโลยี และภูมิปัญญาดั่งเดิมมาผสมผสานกันในการพัฒนาการเกษตร สร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกร เพื่อแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม และสร้างการยอมรับในการใช้มาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ,ทรัพยากรแร่ การพัฒนาจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ โดยครอบคลุมการบริหารจัดการพื้นที่เชิงกลยุทธ์ทุกมิติรอบด้าน และการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีขั้นสูงในการประเมินศักยภาพและพัฒนาแหล่งแร่ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง แม่นยำ และเหมาะสมกับสถานการณ์และการใช้ประโยชน์ในยุคปัจจุบัน
ทรัพยากรพลังงาน การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการประหยัดพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้มากขึ้น หรือเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงาน แนวทางการสนับสนุนอาจอยู่ในรูปแบบของการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสะอาด เช่น การลดหย่อนภาษี เป็นต้น ,ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การสร้างเครือข่ายในการป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าตั่งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับภูมิภาค และการสร้างองค์ความรู้ ปลูกจิตสำนึก และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในแต่ละพื้นที่ป่าอนุรักษ์
ทรัพยากรน้ำ การสร้างกลไกลการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการจากการทีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในรูปแบบเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละลุ่มน้ำ ,ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับผลกระทบต่อป่าชายเลน หญ้าทะเล และปะการัง จากการประกอบกิจการต่าง ๆ ได้แก่ การประมง และผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว และสร้างความตระหนักในการปกปักษ์รักษาในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรมอนุรักษ์ป่าชายเลน ฟื้นฟูแนวปะการัง เป็นต้น ,ความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างเครือข่ายในการดูแลทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน
ภาวะมลพิษ การบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามRoad mapการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และสามารถขับเคลื่อนการทำงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะ มูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 - 2564) ตลอดจนแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ , สิ่งแวดล้อมชุมชน เร่งผลักดันแผนแม่บทการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนไปสู่การปฏิบัติเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ,สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการแหล่งธรรมชาติและศิลปกรรมในระดับท้องถิ่น เพื่อลดการเสื่อมโทรมและการเปลี่ยนแปลงจากเดิมให้น้อยที่สุด และการสร้างจิตสำนึกให้แก่ ประชาชน นักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่น ไห้มีความระหนัก ต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนการปรับตัวและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนและวิทยาการสมัยใหม่ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน
“ครม. ได้สั่งการให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายตามรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560 ต่อไปตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ”