นายกฯ มอบ “รองฯ สมคิด” ศึกษาตั้ง “องค์การมหาชน” รองรับความร่วมมือวิจัยและพัฒนาไทย-จีนในอนาคต พร้อมสั่ง ก.พาณิชย์เจ้าภาพ เร่งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้าและลงทุนไทย-จีน เน้นส่งเสริมนักลงทุนจีนเข้าพื้นที่อีอีซี หลังจีนสนใจลงทุนยา อสังหาฯ การศึกษา การเงิน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว
วันนี้ (8 มิ.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับติดตามกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เร่งดำเนินการตามข้อส่งการระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (9 ม.ค. 61) ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
“พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดทำความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มากยิ่งขึ้น และให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมทั้งให้พิจารณาความเหมาะสมในการจัดตั้งหน่วยงานรองรับการดำเนินการเกี่ยวกับความร่วมมือ ด้านการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวในรูปแบบองค์การมหาชนด้วย”
นอกจากนี้ ยังสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโดยยึดแนวทางหารือกับประธานสมาคมการค้า Air Business College พร้อมคณะนักธุรกิจจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 61 หลังจากมีการหารือเกี่ยวกับ เรื่องการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน
โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ค. นายเฉิน เตา ประธานสมาคมการค้า Air Business College พร้อมคณะนักธุรกิจจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาศึกษาลู่ทางการลงทุน และประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน ที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมาก โดยไทยมีแผนส่งเสริมโครงการ EEC ซึ่งนักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากรัฐบาล รวมทั้งยังจะเป็นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ Connectivity ของไทย กับยุทธศาสตร์ Belt One Road Initiative ของจีน
“จีนแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนใน EEC โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยา อสังหาริมทรัพย์ การศึกษา การเงิน วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจีนก็ได้มีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมากว่า 40 ปีเช่นกัน จึงพร้อมที่จะนำความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน”