อดีต รมว.คลัง แฉ รัฐบาลประยุทธ์ ทำพลาด ยกเลิกเพดานราคาก๊าซหุงต้มจากโรงแยกก๊าซที่เคยกำหนดไว้ต่ำกว่าราคาตลาดโลกที่ 333 ดอลลาร์ต่อตัน กำหนดใหม่เป็น 498 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน สูงกว่าราคาตลาดโลก ซ้ำยกเลิกสูตรตั้งราคาก๊าซจากโรงกลั่น 76-24 เปลี่ยนเป็นใช้ราคานำเข้าบวกค่าขนส่ง - ค่าใช้จ่าย - ค่าประกัน ส่งผลราคาก๊าซพุ่ง ประชาชนแบกภาระหลังแอ่น ชี้ การใช้กองทุนน้ำมันตรึงราคาให้อยู่ถังละ 363 บาท เท่ากับเอาเงินประชาชนไปจ่ายให้กลุ่มทุน แทนที่จะกลับไปใช้การสร้างสมดุลแบบเดิม
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นผ่านยูทูป หัวข้อ เรื่องก๊าซหุงต้ม : คสช. คืนความทุกข์ให้ประชาชนหรือเปล่า? เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเรื่องราคาก๊าซหุงต้มโดยรัฐบาล คสช. ว่า ปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้มที่ใช้ในประเทศไทย ผลิตในประเทศถึง 90 เปอร์เซ็นต์ นำเข้าในเพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่าของตลาดประมาณปีละ 1.5 แสนล้านบาท ทั้งหมดเป็นก๊าซหุงต้มที่มาจากโรงแยกก๊าซร้อยละ 60 มาจากโรงกลั่นน้ำมันที่ได้ก๊าซหุงต้มออกมาร้อยละ 30 การกำหนดราคาของก๊าซหุงต้มจึงมีผลบวกผลลบต่อประชาชนและบริษัทที่ทำธุรกิจนี้ตลอดห่วงโซ่ทุกตัว รัฐบาล คสช. คงคิดว่าจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนกติกาที่ใช้กันมายาวนานเพื่อรองรับการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. นั้น แผนแม่บทในการแปรรูปที่กำหนดในสมัย รัฐบาลชวน หลีกภัย ให้โอนระบบท่อและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นของรัฐ แต่เมื่อมีการแปรรูปในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มีการโอนลงไปก่อน จนตอนหลังปรากฏว่ามีการฟ้องร้องรัฐบาล เพราะไม่มีการโอนออกมาจากพระบริษัทให้ครบถ้วน ทั้งนี้ การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ จะต้องใช้กติกาที่เป็นเสรีได้จริงๆ คือ ระบบท่อจะต้องโอนเข้ามาอยู่ในองค์กรที่เป็นของรัฐเนื่องจากว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ร่วมกันต้องเปิดให้ทุกๆ คนสามารถเข้ามาร่วมใช้ได้ องค์กรที่อาจเรียกว่าเป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติหรือจะเป็นองค์กรก๊าซแห่งชาติ เพื่อไม่ให้มีการผูกขาดโดยบริษัทเอกชน
เมื่อยังไม่มีการโอนระบบท่อจนครบ เพื่อรองรับการแข่งขันแบบเสรี แต่เราไปใช้กฎกติกาซึ่งเตรียมเอาไว้สำหรับสภาพแวดล้อมที่แข่งขันกันอย่างเสรี ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างประชาชนกับภาคธุรกิจ ซึ่งขณะนี้เกิดแล้ว คือเดิมรัฐบาลในอดีตถ่วงดุลเอาไว้กำลังพอดี การให้สัมปทานผลิตก๊าซในอ่าวไทย รัฐบาลได้ผลตอบแทนในอัตราตายตัว ในเรื่องของค่าภาคหลวง เป็นตัวเลขระดับหนึ่งแต่ว่ายังไม่สุด แต่มีการกำหนดกติกาการแบ่งระหว่างผู้ผลิตที่อยู่กลางน้ำกับประชาชนที่อยู่ปลายน้ำให้อยู่ในจุดที่พอดี คือ มีการกำหนดว่า ก๊าซหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือ หรือการขนส่ง และใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิง จะบังคับให้โรงแยกก๊าซขายในราคาเพดานที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก คือ อยู่ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เป็นการผลักกำไรส่วนหนึ่งไปให้ประชาชนได้ใช้ในราคาต่ำกว่าตลาดโลก และเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตก๊าซกำหนดราคาแพงเวอร์ เพราะโดนเพดานตรงนี้ล็อกเอาไว้
แต่ปรากฏว่า รัฐบาล คสช. ทำผิดพลาดไปยกเลิกเพดานที่ว่านี้ โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในที่ประชุม พอยกเลิกตรงนี้ก็มอบให้กับให้คณะกรรมการที่เราเรียกว่า กบง.(คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน) เป็นคนกำหนดราคาใหม่ ในการประชุมวันที่ 7 มกราคม 2558 เพิ่มราคาเพดานจาก 333 เป็น 498 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทั้งที่ในวันนั้น ราคาก๊าซหุงต้มในตลาดโลกที่ใช้ราคาที่ซาอุดีอาระเบียเป็นฐานแค่ 447 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เมื่อราคาเริ่มต้นแพงกว่าตลาดโลก มันก็ลำบากสำหรับประชาชน
นอกจากนี้ มาตรการเดิมที่กำหนดให้โรงกลั่นน้ำมันที่มีก๊าซหุงต้มเป็นผลพลอยได้ ต้องขายก๊าซหุงต้มที่ผลิตได้ร้อยละ 24 ในราคาเพดาน 333 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ที่เหลืออีกร้อยละ 76 จึงขายในราคาตลาด หรือที่เรียกว่าสูตร 76-24 ซึ่งถือว่าเป็นธรรมอยู่บ้าง แต่ปรากฏว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกเลิกสูตร 76-24 ดังกล่าว แล้วให้ กบง. เป็นผู้กำหนดใหม่ โดยให้โรงกลั่นน้ำมันขายก๊าซหุงต้มในไทยต่ำราคาที่ส่งออก 20 เหรียญต่อตัน แต่ต่อมาวันที่ 9 มกราคม 2560 กบง. ก็ไปเปลี่ยนเป็นให้ใช้ราคานำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศแล้วบวกด้วย X คือ ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสีย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เกี่ยวกับการนำเข้า ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเพราะว่าโรงกลั่นในไทยไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าขนส่ง หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่บวกเข้าไป
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งการยกเลิกเพดานราคาขายก๊าซหุงต้มจากโรงแยกก๊าซและโรงกลั่นน้ำมัน จึงทำให้ประชาชนต้องเผชิญความยากลำบากจากการใช้ก๊าซในราคาแพง โดยราคาเริ่มต้นของก๊าซหุงต้มจากโรงแยกก๊าซนั้นต่ำกว่าตลาดโลก 1 ใน 3 กลายเป็นว่าสูงกว่าราคาตลาดโลก บางเดือนถึงร้อยละ 40 - 45 ส่วนก๊าซหุงต้มจากโรงกลั่น เดิมเป็นราคาตลาดโลกลบด้วย 12 - 15 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นราคาตลาดโลกลบแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนจึงกลานเป็นผู้แบกภาระ เงินไหลออกจากกระเป๋าไปอยู่กับเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นโรงแยกก๊าซฯ หรือโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งบางคนเป็นเอกชนชาวต่างชาติที่ไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐบาลไทย ผลกำไรกลายเป็นเงินเดือน - โบนัสของผู้บริหารระดัสูงและข้าราชการที่เ้าไปเป็นกรรมการบริษัท
ส่วนมาตรการในการตรึงราคาก๊าซหุงต้มไม่ให้เกินถังละ 363 บาท โดยการเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยนั้น นายธีระชัย กล่าวว่า เป็นมาตรการที่ให้ประโยชน์แก่เอกชนที่อยู่กลางน้ำมากเกินไป สิ่งที่ควรทำคือย้อนกลับไปอยู่ที่จุดสมดุลเพื่อให้ประโยชน์เอกชนฝ่ายต้นน้ำกลางน้ำลดลงและให้ประโยชน์ประชาชนที่อยู่ปลายน้ำมากขึ้น กลับกลายเป็นว่า ไปตรึงราคาโดยเอาเงินจากกองทุนน้ำมันเข้ามาชดเชย ทั้งที่เวลานี้กองทุนน้ำมันในส่วนที่เป็นก๊าซมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 500 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะพอ กองทุนต้องก่อหนี้ ภาระก็มาตกแก่ประชาชน จึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้ความ ผิดหลักการ เหมือนลิงแก้แห ปล่อยให้ขึ้นราคาที่ปลายน้ำแล้วเอาเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชย การที่ คสช.ช่วยประชาชนในเรื่องก๊าซหุงต้มจึงไม่รู้ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์กันแน่