xs
xsm
sm
md
lg

ม.44 อุ้ม "ทีวีดิจิทัล" แค่หน้าฉาก ไส้ในให้ "หอยม่วง" เซ็งลี้โฆษณา สมใจ “ท่านอธิบดีไก่อู”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

มาตามนัด คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2561 ที่ใช้อำนาจ “มาตรา 44” ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

กว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. จะจรดปากกา และประกาศออกมาได้ก็เล่นเอาชะเง้อคอยกันจนกลัวเก้อ แต่ก็ทันการ “เดดไลน์” วันสุดท้าย (23 พ.ค.61) ของนัดชำระค่าธรรมเนียม งวดที่ 5 ให้กับ กสทช. พอดิบพอดี

รายละเอียดในคำสั่งระบุว่า ให้ผู้รับใบอนุญาตที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ตามคำสั่งที่ 76/2559 ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ในส่วนที่เหลือตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไป

สำหรับผู้รับใบอนุญาตให้ชำระค่าธรรม-เนียมใบอนุญาตในส่วนที่เหลือ ตั้งแต่งวดที่ 5 เป็นต้นไป หากผู้รับใบอนุญาตรายใดไม่สามารถชำระค่าธรรม-เนียมในงวดที่เหลือให้ผู้รับใบอนุญาตรายนั้น แจ้งเป็นหนังสือไปยัง กสทช. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับเพื่อขอพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

และให้ กสทช. พิจารณาการพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและกำหนดระยะเวลาการพักชำระค่าธรรมเนียมซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี

นอกจากนี้ ให้ กสทช. หรือคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ จัดให้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) ให้กับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล เป็นจำนวนเงินในอัตรา 50% ของค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ดังกล่าวเป็นระยะเวลา 24 เดือน

สาระสำคัญของมาตรการ “อุ้ม” ก็ไม่ต่างจากที่ประโคมข่าวกันมาก่อนหน้านี้ หลักๆ 2 ข้อ คือ การพักชำระหนี้ 3 ปี แต่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย 1.5% มาจ่ายหนี้กันอีกทีก็นู้น ปี 2564 รวมไปถึงมาตรการช่วยจ่ายค่าโครงข่าย (MUX) 50% เป็นเวลา 24 เดือน

ที่ไม่มาตามนัด ก็คงเป็นเรื่อง การเปลี่ยนโอนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของ ทีวีดิจิทัลหลายช่อง ที่ไม่ถูกกล่าวถึงในคำสั่งฉบับนี้

และดูเหมือนจะรู้กันล่วงหน้าว่า พอคำสั่งออกไม่ทันไร ก็มีผู้แทน 20 ช่องทีวีดิจิทัล แห่มายื่นขอใช้สิทธิตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. กันอย่างพร้อมเพรียง

ขาดไปก็แต่ “ช่อง 7 - เวิร์คพอยท์” ที่ชำระเงินเต็มจำนวนตามกำหนดไปก่อนหน้านี้แล้ว

ที่ว่าไปข้างต้นถือเป็นเรื่องรับรู้กันมาพอสมควรแล้ว แต่ในคำสั่งฉบับเดียวกัน ก็ยังมีการ “ซ่อนกล” ให้อำนาจการตัดสินใจแก่ “กสทช.” ในการพิจารณาให้หรือไม่ให้สิทธิการพักชำระหนี้ โดยระบุว่า ให้พิจารณาจากพฤติการณ์ก่อนนี้ว่า เคยทำผิดเงื่อนไข หรือฝ่าฝืนคำสั่ง กสทช. หรือไม่

ประมาณว่า ต้องเป็น "เด็กดี" ถึงจะได้ “สิทธิพิเศษ” ซึ่งการให้อำนาจแก่ กสทช. ก็น่าห่วงว่า เป็นการกรุยทางให้ "บิ๊ก กสทช." ไป “เรียกค่าไถ่” กับบางช่องได้

อีกทั้งยังมีประเด็นกดดัน-แทรกแซง-คุมคามการนำเสนอของสื่อทีวีดิจิทัล ในช่วงที่การเมืองเริ่มติดเครื่อง ตลอดจนความนิยมของ คสช. เสื่อมถอย อีกด้วย

 นอกเหนือจากประโยชน์องค์รวมที่ตกต้องถึง “ทีวีดิจิทัล” ทุกช่องแล้วนั้น ในคำสั่งฉบับนี้ยัง “ยัดไส้” ประโยชน์เฉพาะเจาะจงให้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ ที่มี "บิ๊กไก่อู" พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั่งควบเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ คนปัจจุบัน

รายละเอียดอยู่ใน ข้อ10. ที่ระบุว่า “ในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการ กระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กรมประชาสัมพันธ์ อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จำเป็น และเพียงพอต่อการผลิตรายการ ตามวัตถุประสงค์ โดยต้องไม่เป็นการมุ่งต่อการแสวงหา กำไรทางธุรกิจตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด โดยให้คำนึงถึงผู้บริโภค ต้นทุนในการ ผลิตรายการและความเป็นธรรมในการแข่งขันที่จะมีผลกระทบต่อผู้รับใบอนุญาตประเภทอื่นด้วย โดยให้มีระยะเวลาสูงสุด ในการโฆษณาได้ตามที่ กสทช. กำหนด”

เป็นการเปิดไฟเขียวให้ “ช่องหอยม่วง” ช่อง NBT กรมประชาสัมพันธ์ สามารถหารายได้จากการโฆษณามาจุนเจือองค์กรได้ โดย กสทช. จะเป็นผู้วางหลักเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้บรรทัดฐาน 8 นาที/ชั่วโมง เท่ากับทาง ททบ.5 ที่เป็น “ทีวีรัฐ” เหมือนกัน

โดย “อธิบดีไก่อู” เคยอ้างว่า งบประมาณที่กรมประชาฯได้รับในแต่ละปี ไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์ผลิตรายการดีๆ จนทำให้เรตติ้งต่ำเตี้ยเรี่ยดิน มาตลอด

และคิดเอง เออเอง ว่า หากช่อง 11 NBT สามารถมีโฆษณาได้ ก็น่าจะเป็นการจูงใจให้ผู้ผลิตมีฝีมือเข้ามาร่วมผลิตรายการออกอากาศ กระชากเรตติ้งให้กระเตื้องขึ้นมาบ้าง

เจริญรอยตามรายการคุณภาพ "ขันเป็นข่าว" ที่เคยออกอากาศทางช่อง 11 NBT และมี "ท่านไก่อู" เป็นผู้ดำเนินรายการ ที่ท้ายรายการก็ขึ้นเครดิตโฆษณา "มือถือค่ายเขียว" เป็นสปอนเซอร์หลัก แต่สุดท้ายก็ “ไปไม่รอด” ฉายได้ไม่กี่เทป ก็ปิดตำนานไปอย่างเงียบๆ 

น่ากลัวว่าจะเป็นการเปิดช่องทาง “เซ็งลี้ - หากิน” โดยใช้ความเป็น “ทีวีรัฐ” ไปบีบบังคับให้สปอนเซอร์มาลงโฆษณา เพราะหากปล่อยตามธรรมชาติ เชื่อเถอะว่า ไม่มีใครคิดจะมาซื้อโฆษณาลง ”ช่องหอยม่วง” ที่มีข้อจำกัดมากมาย อีกภาพลักษณ์ความเป็น “ทีวีรัฐ” ที่ไม่ว่าสร้างสรรค์รายการดีขนาดไหน ก็สลัดไม่พ้นความเป็น “เครื่องมือล้างสมอง” ของรัฐบาล ในแต่ละยุคหรอก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะได้ “นายทุนเงินหนา” ที่ไหนหน้ามืดมาเป็นสปอนเซอร์ให้ แต่หากไม่เข้าใจทบาทความเป็น "ทีวีสาธารณะ" และไม่สามารถก้าวข้ามความเป็น “ทีวีรัฐ” ที่ถูกใช้เป็น “เครืองมือล้างสมอง” มาโดยตลอดแล้วละก็

จุดจบคงไม่ต่างจากรายการในตำนาน "ขันเป็นข่าว" ที่ได้สปอนเซอร์ก้อนใหญ่มาสนับสนุน แต่ประเดี๋ยวประด๋าว จู่ๆ ก็เลิกผลิตไปหน้าตาเฉย .


กำลังโหลดความคิดเห็น