สั่งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เร่งฟันขบวนการหลอกชาวบ้าน “ปลูกอินทผลัม-โครงการพันแลกล้าน” จี้ระดับจังหวัด-อำเภอ ตรวจความเสียหาย รวบรวมข้อมูลดำเนินคดีได้ทันที พร้อมตั้งคณะทำงานที่มีอยู่ ป้องกันปัญหาการหลอกลวงในระยะยาว
วันนี้ (18 พ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมหลอกลวงราษฎรในส่วนภูมิภาค ลักษณะชักชวนให้ปลูกอินทผลาลัม โดยจะจำหน่ายเมล็ดพันธ์อินทผาลัมให้ราษฎรปลูก และโนมน้าวราษฎรว่าจะรับซื้อผลผลิตกลับคืนในราคาที่สูง
ทั้งนี้ ให้ตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวในพื้นที่ ทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ หากตรวจสอบพบความเสียหาย ให้รวบรวมข้อมูลต่างๆ และมอบหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมาย และให้อำเภอ ใช้กลไก เกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนให้ระมัดระวังและตั้งคณะทำงานที่มีอยู่ป้องกันปัญหาการหลอกลวงในระยะยาว
มีรายงานด้วยว่า กระทรวงมหาดไทย ยังได้สั่งการให้ตรวจสอบขบวนการที่เชื่อว่าเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงประชาชน ภายใต้ชื่อโครงการเงินช่วยเหลือบุคคลธรรมดา ในลักษณะสนับสนุนเงินฟรี 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องส่งเงินคืน 5 พันบาท และส่วนที่เหลือนั้นจะโอนให้เป็นทุนสร้างชีวิตและอาชีพในชุมชน โดยหลอกลวงว่าจะจัดตั้งเป็นกองทุนรวมในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อสนับสนุนบุคคลธรรมดา ให้มีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริง
โดยขบวนการนี้มีพฤติการณ์ เช่น อ้างว่าหากราษฎรสนใจสมัครจะจัดส่งเอกสารเข้าส่วนกลางครั้งละ 100 ราย แนบบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน บัญชีธนาคาร โดยระบุว่าไม่รับบัญชีของธนาคารของรัฐ รวมถึงจะต้องมีรูปถ่ายใส่สูทพื้นหลังสีขาวเพื่อส่งไปยังส่วนกลาง
เมื่อปลายปี 2560 กระทรวงมหาดไทยเคยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายกับพฤติการณ์ของกลุ่มคนและบุคคลที่มีพฤติกรรมเข่าข่ายแก๊งต้มตุ๋นหลอกลวง โดยชักชวนให้ประชาชนสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือเครือข่าย และสัญญาว่า จะให้ประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกเช่น ภายใน 15 วันหลังจากวันสมัคร โดยจะโอนเข้าบัญชีให้คนละ 1 ล้านบาท 5 ล้านบาท 10 ล้านบาท หรือ 20 ล้านบาท ตามลำดับ
“มีพฤติการณ์ เช่น การแจ้งให้ผู้สมัครที่ถูกชักชวน สามารถตรวจสอบเงินที่โอนผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น ต้องจ่ายค่าสมัคร 300 บาท ต้องซื้อโทรศัพท์มือถือ จากผู้ชักชวน ในราคาเครื่องละ 1,700 บาท แต่ที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครได้รับเงินตามที่แก๊งต้มตุ๋นหลอกลวงกล่าวอ้างและสัญญาไว้ โดนอ้างเพียงว่าเป็นเงินที่จะมาจากต่างประเทศเท่านั้น”