xs
xsm
sm
md
lg

บรรทัดฐานปราบโกง กรณี “นาฬิกาหรู” จากอินโดฯถึงไทย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

มาตรฐานมันผิดกัน

“รัฐบาล คสช.” เข้ามาถึงก็ประกาศยกระดับ มาตรการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ขึ้นเป็น “วาระแห่งชาติ” ใช้หลายเวทีในการคุยฟุ้งไปทั่ว แต่สุดท้ายก็เป็น “บ้องกัญชา” ไม่เห็นมรรคผลอะไรเลย ตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา

ผิดกับในประเทศอื่น ที่เอาจริง เด็ดขาด ขนาดคนระดับผู้นำประเทศ ยังไม่รอด กรณีของ ศาลแขวงกลางกรุงโซล มีคำพิพากษา จำคุก 24 ปี และปรับเงิน 1.8 หมื่นล้านวอน “ปัก กึน เฮ” อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ฐานมีความผิดในคดีทุจริตทั้งหมด 16 กระทง เช่น รับสินบน ข่มขู่ ใช้อำนาจโดยมิชอบ

โดย “ปัก กึน เฮ” ถือเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ หลังรับตำแหน่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 แต่พัวพันคดีทุจริตจนถูกรัฐสภาถอดถอน จากตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2559 และถูกปลดออกจากคำแหน่งในเดือนมีนาคม ปีก่อน
ถือเป็นประธานาธิบดีถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีทุจริตคนที่ 3 ของเกาหลีใต้ แต่เป็นผู้ประเทศจากการเลือกตั้งที่ถูกปลดจากตำแหน่งคนแรก

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย เวลามีคดีคอร์รัปชัน หากเป็น “ข้าราชการ” ก็อาจถูกย้ายไปอยู่ที่ใหม่ คล้ายกับกรณีที่กำลังเกิดขึ้นที่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการทุจริตโครงการเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ แล้วถ้าเลยเถิดเป็นคดีความ ก็มักจะถูกลงโทษจำคุกไม่กี่ปี ยิ่งจำเลยไม่เคยต้องโทษมาก่อน ให้รอการลงอาญา 2 ปี เงินที่ทุจริตให้ริบเข้าหลวง แต่ส่วนใหญ่ ตามไม่ค่อยเจอ

ยิ่งหากเป็น “รัฐมนตรี” หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องก็จะเงียบๆ หายไปกับสายลม ถ้าความผิดชัดหน่อย ก็อาจจะมีการปั้น “แพะ” ขึ้นมารับบาปแทน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเป็นช่วงเปลี่ยนขั้วอำนาจด้วยนะ ถ้ายังอยูในตำแหน่งนี่แตะต้องแทบไม่ได้
เถิบมาอีกนิด ประเทศในอาเซียนด้วยกัน อย่าง “อิเหนา” ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ที่ประกาศเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน เฉกเช่นเดียวกับ “รัฐบาล คสช. แห่งไทยแลนด์” แต่ผลลัพธ์ที่ออกมา ต่างกันราว “ฟ้ากับเหว”

หลังจากที่ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของอินโดนีเซีย (เคพีเค) หรือ “ป.ป.ช.อินโดฯ” ชี้มูลความผิด “สัตยา โนวานโต” ประธานรัฐสภาอินโดฯ เป็นผู้ต้องสงสัย คดีทุจริตจัดซื้อในโครงการออกบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ งบประมาณกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ทำให้ประเทศชาติเสียหายมาก โดยมีข้อมูลว่ากว่า 1 ใน 3 ถูกยักยอกกระจายในเครือข่ายนักการเมืองและนักธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการช่วงปี 2552-2557
ก่อนที่ไม่กี่วันก่อน ศาลอินโดนีเซีย ออกคำพิพากษาสั่งจำคุก อดีตประธานรัฐสภาอินโดนีเซีย เป็นเวลา 15 ปี ในข้อหาคอร์รัปชัน

คล้ายกับที่เกาหลีใต้ เพราะ “สัตยา โนวานโต” ถูกดำเนินคดีในขณะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา แล้วยังที่มีตำแหน่งเป็นประธานของพรรคโกลคาร์ พรรคชั้นนำของประเทศ และเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

จากเกาหลีใต้ ถึงอินโดนีเซีย ถือว่ามาตรฐานใกล้เคียงกัน ขนาด “ผู้มีอำนาจ” อยู่ในตำแหน่งแท้ๆ ยังโดนสอยร่วงได้ หรือหากเอามาตรฐานสูงปรี๊ดอย่างประเทศจีน ก็ประหารชีวิตเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้นคดีของ “สัตยา โนวานโต” อดีตประธานรัฐสภาอินโดฯ ยังถูกเปรียบเทียบกับเรื่องที่เกิดในประเทศไทยอีกด้วย เพราะมีรายงานข่าวว่า อดีตประธานรัฐสภาอินโดฯ ได้รับ “สินบน” เป็นนาฬิกาหรูยี่ห้อ “ริชาร์ด มิลล์” มูลค่าถึง 135,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 4.4 ล้านบาท เพื่อรับรองว่ารัฐสภาของอินโดนีเซียจะยอมโหวตให้ผ่านโครงการดังกล่าว

เป็นช่วงเดียวกับที่เกิดเรื่องนาฬิกาหรูยี่ห้อ “ริชาร์ด มิลล์” ในประเทศไทย พอดิบพอดี ด้วยมาปรากฏอยู่บนข้อมือ “เสี่ยป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จนถูกยกให้เป็น “แบรนด์แอมบาสซาเดอร์” ของนาฬิกาหรูสัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ ไปแบบไม่ตั้งใจ

ไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีทรัพย์สินของ “ท่านรองฯป้อม” จนเจอขุดและคุ้ย จากเรือนที่ 1 ไปถึงเรือนที่ 25 หลากยี่ห้อ รวมมูลค่ามากกว่า 40 ล้านบาท แค่ก็ไม่มีซักเรือนเดียว ที่มีการแจ้งในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

กลายเป็นเรื่องเป็นราว ยื่นตรวจสอบกันจ้าละหวั่น ก่อนมีคำชี้แจงออกมาสั้นๆ ได้ใจความว่า “นาฬิกายืมเพื่อน”

โดยเพื่อนที่ว่าคือ “เสี่ยคราม” ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คอม-ลิงค์ จำกัด จนมีนิคเนมในวงการว่า “เจ้าสัวคอมลิ้งค์” ซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2560 แต่นาฬิกาเจ้ากรรม ยังอยู่กับ “บิ๊กป้อม” มาถึงเดือนธันวาคม 2560

ต้องไม่หลงประเด็น เพราะหลายคนอาจมองว่า “ท่านรองฯป้อม” ทุจริตคอร์รัปชันจนมีเงินถุง ไปชอปนาฬิการะดับไฮเอนด์ แต่ความเป็นจริง “บิ๊กป้อม” ถูกสงสัยในเรื่อง “ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน” เท่านั้น 

ที่ยกกรณี “เสี่ยป้อม” ขึ้นมาเทียบกับเรื่องคดีดังที่อินโดนีเซีย ก็เพื่อชี้ให้เห็นความง่อยเปลี้ยของหน่วยงานปราบโกงอย่าง ป.ป.ช. ที่ทำงานตามกระแสในโลกโซเชี่ยล ซึ่งขุดคุ้ยนาฬิกามาได้ 25 เรือน ป.ป.ช.ภายใต้การนำของ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ก็พาซื่อตรวจสอบแค่ 25 เรือนที่ว่านั้น

ต่างจากการตรวจสอบเรื่องทุจริตคอร์รัปชันของอินโดนีเซีย ประเทศที่ถูกมองว่ามีการคอร์รัปชันหนักกว่าไทย เพียงแค่เบาะแสเล็กๆ ที่ ประธานรัฐสภา ถูกถ่ายภาพว่าสวมนาฬิการาคาแพงในระหว่างทำหน้าที่ในสภาฯ
ก่อนสืบเสาะว่าเป็น “สินบน” ในการก่อการทุจริตครั้งมโหฬาร

ย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้กล่าวหาว่า “บิ๊กป้อม” รับสินบนอะไร เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน หากแต่เป็นหน้าที่ของ “หน่วยงานตรวจสอบ” มากกว่า ที่จะต้องต่อยอดให้เห็นว่า การหยิบยืมนาฬิกาของคนระดับนี้ มีนอกในอะไรที่ผิดปกติ หรือไม่

ไม่ใช่ก้มหน้าตรวจสอบว่า นาฬิกาทั้งหมดเป็นของใคร ยืมใครมาแล้วจบๆ กันไป ด้วยหลายคนบอกตรงกันว่า เกิดมาไม่ได้ยินได้ฟังว่า มีใครยืมนาฬิกาเพื่อนมาใส่มากมายเป็นสิบๆ เรือน

อาจจะตั้งคำถามขึ้นในใจว่า เครือข่ายธุรกิจของ “เสี่ยคราม” มีผลพลอยได้จากการเข้าสู่อำนาจของ คสช. ที่มี “เพื่อนป้อม” เพื่อนรักตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ เป็นคีย์แมนสำคัญของรัฐบาลหรือไม่ประการใด

ตลอดจนต้องไม่ไม่ปล่อยผ่านข้ออ้าง “ยืมเพื่อน” ให้เป็นบรรทัดฐานของข้อแก้ตัว เวลาถูกกล่าวหาว่าปกปิดบัญชีทรัพย์สิน หรือร่ำรวยผิดปกติ ในอนาคตด้วย

นี่แหละมาตรฐานไทยแลนด์ ที่คงเอาจริงปราบโกงไม่ได้ กลัวว่าจะ “ลูบหน้าปะจมูก” ไปเรื่อย.


กำลังโหลดความคิดเห็น