เมืองไทย 360 องศา
ก็ถือว่าเหนือความคาดหมายเหมือนกันกับการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นประธาน ที่ว่าเหนือความคาดหมายก็คือได้เห็นแนวโน้มในทางบวกอย่างชัดเจนมากขึ้นสำหรับความหวังของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ต้องการเห็นการปฏิรูปตำรวจให้เป็นรูปธรรม และตรงใจมากที่สุด
อย่างไรก็ดีแค่การประชุมของคณะกรรมการชุดดังกล่าวผ่านไป 2 นัดเท่านั้นก็เริ่มมองเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นว่า"น่าจะ"เป็นการปฏิรูปตำรวจไปในทิศทางที่ชาวบ้านต้องการมากขึ้นกว่าเดิม เรียกว่า"พอมีความหวัง"ว่างั้นเถอะ
จากการเปิดเผยของ คำนูณ สิทธิสมาน ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดนี้ได้ย้ำว่าสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้ก็คือจะแยก"ภารกิจหลัก"กับ"ไม่ใช่ภารกิจหลัก"ออกมาให้ชัด เช่น งานรักษาความสงบ งานป้องกัน งานปราบปรามโจรผู้ร้าย และงานที่นำคนทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ส่วนภารกิจอื่นเท่าที่มีการระบุออกมาคร่าวๆ เช่น งานที่เกี่ยวกับงานบริการประชาชน เช่นงานทะเบียน หรืองานจราจร สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็น"งานรอง"ของตำรวจควรถ่ายโอนไปให้หน่วยงานอื่น หรือท้องถิ่นที่มีความพร้อม และเมื่อแยกภารกิจหลักและภารกิจรองออกมาให้เห็นชัดเจนแล้วก็จะมาพิจารณากันถึงโครงสร้างของตำรวจ
สิ่งที่เห็นชัดเจนก็คือการแยกงานสอบสวนออกจากงานปราบปรามให้ชัดเจน ส่วนจะมีรายละเอียดแบบไหนก็ค่อยมาว่ากันแต่หลักการน่าจะเป็นแบบนี้ รวมไปถึงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ต้องพิจารณาว่า"ใคร"เป็นคนตั้ง และใครคนนั้นจะมีอิสระปลอดจากการชี้นำ หรือยู่ใต้อำนาจของฝ่ายการเมืองหรือใครหรือไม่
เพราะหากไม่มีการ"ออกแบบ"ให้มีความ"เป็นอิสระ" ทำให้การแต่งตั้งตำรวจเกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ได้คนดีมีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งหากทำได้แค่นี้ก็เป็นการสร้างหลักประกันความยุติธรรมให้กับชาวบ้านได้ในชั้นต้นแล้ว
แน่นอนว่าการปฏิรูปตำรวจถือว่าเป็นความหวังลำดับต้นๆ ของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาจัดการแก้ปัญหาเป็นอันดับแรกๆเหมือนกัน เพราะจะว่าไปแล้วที่ผ่านมาจะด้วยระบบโครงสร้างที่อ่อนแอ และไม่เป็นธรรมได้สร้างความเจ็บปวดให้กับสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะภารกิจของตำรวจหรือ"ต้นทาง"ของกระบวนการยุติธรรม หากต้นทางบิดเบี้ยวเสียแล้ว มันก็ย่อมพอมองเห็นแนวโน้มของ"ปลายทาง"ว่าจะบิดเบี้ยวไปแบบไหน
และจะว่าไปแล้วแนวทางในการปฏิรูปตำรวจถือว่า "ตกผลึก"กันไปแล้ว เพราะผ่านการศึกษาของคณะกรรมการกันหลายชุด ทั้งที่สรุปออกมาในแบบตรงใจชาวบ้าน หรือออกมาในแบบตรงใจผู้มีอำนาจหรือข้าราชการตำรวจก็มี แล้วแต่ละจะเลือกหยิบออกมาแบบไหนเท่านั้น
ก่อนหน้านี้สำหรับการปฏิรูปตำรวจในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่า"หมดหวัง"ไปแล้ว หลังจากได้เห็นผลสรุปของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจในชุดที่นำโดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ที่ออกมาในแบบ"เกรงใจ"และส่วนใหญ่เป็นการเน้นในแบบเพิ่มสวัสดิการตำรวจ ไม่ใช่ปฏิรูปโครงสร้างอย่างที่ควรจะเป็น แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.บุญสร้าง จะได้รับการการันตีในความรู้ความสามารถก็ตาม แต่เมื่อผลออกมาอย่างที่เห็นมันก็ทำให้องค์กรภาคประชาชนที่จับตามองกันอยู่ไม่ปลื้ม และก็พลอยไปปลื้มไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ อีกด้วย
หลังจากนั้นสังคมก็หมดหวัง พร้อมๆกับความ"เสื่อมศรัทธา"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกระบุว่าสิ่งที่ชาวบ้านอยากให้ทำ ไม่ทำ แต่กลับไปทำในเรื่องอะไรก็ไม่รู้ เสียเวลา เสียงบประมาณ เปลืองน้ำเปลืองไฟเปล่าๆ
อาจเป็นเพราะรับรู้ถึงสัญญาณดังกล่าวหรือเปล่าก็ไม่ปราบ ทำให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติขึ้นมา โดยมี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และแค่ประชุมผ่านไปสองนัดก็เริ่ม"เห็นหน้าเห็นหลัง"กันแล้ว ไม่ต้องอารัมภบทกันให้ยืดยาว โช๊ะๆกันไปเลย เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าจะเอาแบบไหน เคยมีผลการศึกษามาแล้วเป็นตั้งๆ และแนวทางก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร หากแต่เน้นความอิสระ สร้างหลักประกันในการอำนวยความยุติธรรม แยกภารกิจหลักของตำรวจให้ชัดว่ามีอะไรบ้างอย่างที่คณะกรรมการชุดนี้สรุปแยกออกมาให้เห็นนั่นแหละ
ดังนั้นภารกิจการปฏิรูปตำรวจนี่แหละถือว่าอีกหนึ่งไม้ตายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะสร้างผลงานให้จดจำส่งท้าย เพราะนี่คือเรื่องหลักที่ชาวบ้านคาดหวัง ถ้าทำได้ก็ได้แต้มอักโข แต่ถ้าโม้หรือ"ท่าดีทีเหลว"ก็น่าจะพอเดาออกว่าผลจะเป็นแบบไหน !!