“เสธ.ไก่อู” แจงดันเอ็นบีทีหาโฆษณาได้แค่ให้อยู่รอด ประชาชนได้รับชมรายการมีคุณภาพมากขึ้น ระบุงบประมาณแค่ปีละ 200 ล้านบาทไม่พอ เผยหารือ กสทช.เบื้องต้นแล้ว รอ “บิ๊กตู่” เคาะ ม.44 ไฟเขียว
วันนี้ (5 เม.ย.) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ใช้อำนาจมาตรา 44 แก้กฎหมายเพื่ออนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์, สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) หาโฆษณาได้ว่า ได้รายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ไปแล้วถึงปัญหาของกรมประชาฯ ที่มีอยู่ งบประมาณมีอยู่ปีละประมาณ 200 กว่าล้านบาทจึงประสบปัญหาในการผลิตรายการ ไม่สามารถที่จะจ้างผู้ผลิตรายการที่มีคุณภาพได้ ดังนั้นจึงเสนอให้ผู้ผลิตรายการในช่องเอ็นบีทีสามารถที่จะหาโฆษณาได้ และไม่ใช่ว่ากรมประชาฯ ต้องการมีรายได้เพิ่ม เพียงแต่ต้องการให้ผู้ประกอบการมีงบประมาณที่จะผลิตงานที่มีคุณภาพออกมาได้ โดยที่กรมประชาฯ อาจให้งบประมาณไปส่วนหนึ่งและหาโฆษณาเองในส่วนหนึ่ง แต่ต้องสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่มากเหมือนสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีทั่วไป และการหาโฆษณานี้ต้องได้น้อยกว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 5
“ที่ต้องเล่าให้สื่อฟังเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้จะหมกเม็ดอะไร เราบริสุทธิ์ใจที่จะแก้ปัญหาของหน่วยงาน ตามข้อกฎหมายเวลานี้ยังทำไม่ได้ เราไม่ได้ต้องการกำไร โดยต้องหารือกับ กสทช.ในวันข้างหน้า หลังจากที่ได้คุยกันแล้วเบื้องต้น เพราะเราต้องการให้คนได้รับรู้สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว แต่วันนี้เราทำได้เฉพาะแค่ข่าว รายการข่าว ถ่ายทอดสด นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผมก็ไม่มีนโยบายไม่ให้ช่องเอ็นบีทีไม่ถ่ายทอดสด แต่ถามว่ามีประชาชนกี่คนที่อยากดูถ่ายทอดสดนั้น จึงอยากให้ลองเปลี่ยนเป็นรายการ เช่น รายงานพิเศษ ที่เก็บรายละเอียดครบถ้วนแต่ใช้เวลาไม่มาก อย่างไรก็ตาม อยากให้ไปดูช่องอื่นๆ เช่น เวิร์คพ้อยท์ ในรายการหนึ่งเขาใช้งบฯ เท่าไหร่ พบว่าเยอะมากหลักสิบล้านบาท แต่ของเอ็นบีทีใช้ทั้งปี 200 กว่าล้านบาท” พล.ท.สรรเสริญกล่าว
พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า หากผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สามารถหาโฆษณาได้ก็ต้องอยู่ที่ข้อตกลงกับสถานีว่าจะต้องจ่ายค่าผลิตรายการให้ด้วยหรือไม่ ในสัดส่วนเท่าไหร่ หรือผู้ผลิตรายการต้องจ่ายค่าเช่าสถานีให้ช่องเอ็นบีที แต่เชื่อว่าถ้าอนุญาตให้ผู้ผลิตรายการสามารถมีโฆษณาได้ก็จะทำให้รายการต่างๆ ในช่องเอ็นบีทีมีคุณภาพมากขึ้น โดยยังยึดหลักการเดิม คือ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานของรัฐบาล ในเรื่องดังกล่าว กสทช.ก็เข้าใจ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ายังติดตรงที่ตรรกะ เช่นว่า สถานีโทรทัศน์เพื่อความมั่นคง อย่างช่อง 5 มีโฆษณาได้ แต่การสร้างความรับรู้ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนอย่างช่องเอ็นบีทีกลับมีโฆษณาไม่ได้ และวันนี้ประชาชนต้องการรายการที่ให้ความรู้แต่ดูแล้วต้องสนุกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เสนอนายกรัฐมนตรีและหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ไปแล้วก็สุดแท้แต่ว่าท่านจะให้การช่วยเหลืออย่างไร ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นการใช้ ม.44 แต่อย่างใด