xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ถกทวิภาคี “ฮุนเซน” ก่อนซัมมิตผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หารือทวิภาคีกับสมเด็จฮุนเซน ก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างครั้งที่ 3 ที่เสียมราฐ กัมพูชา วันที่ 5 เมย.61
นายกฯ เดินทางร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างครั้งที่ 3 ที่เสียมราฐ กัมพูชา โดยหารือทวิภาคีกับ “สมเด็จฯ ฮุน เซน” ก่อนร่วมประชุมแบบเต็มคณะ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาในอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน ทั้งเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง การเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ โดยมีจีน-พม่าเป็นประเทศคู่เจรจาด้วย

เมื่อเช้าวันนี้ (5 เม.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหารือทวิภาคีกับสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ณ ห้องโบเกอร์ ชั้น 1 อาคารศูนย์การประชุม โรงแรมสกขา เสียมราฐ รีสอร์ต แอนด์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา

ก่อนหน้านี้ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภารกิจด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 (The 3rd Mekong River Commission Summit) ในวันที่ 5 เมษายน 2561 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย 1. ผู้นำจากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(Mekong River Commission : MRC) ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม 2. รัฐมนตรีจากประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีนและเมียนมา 3. ผู้แทนรัฐบาลประเทศหุ้นส่วนการพัฒนาและองค์การระหว่างประเทศ เป็นการประชุมระดับผู้นำของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่มีกำหนดจัดขึ้นทุก 4 ปี เพื่อเป็นเวทีสำคัญด้านทรัพยากรน้ำระดับภูมิภาค ในการหารือและกำหนดนโยบายความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำโขง

วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ คือ 1. ประเทศสมาชิกจะร่วมแสดงจุดยืนร่วมกันในการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) 2. เพิ่มพูนความร่วมมือกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 3. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาครวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วนการพัฒนาต่อแนวความร่วมมือของ MRC และ 4. แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้และการประยุกต์สำหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง ร่วมกับลุ่มน้ำนานาชาติอื่นๆ

ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีจะผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ ผลักดันความร่วมมือการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจากภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วม และคุณภาพน้ำ เสริมสร้างบทบาทการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงให้ เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สนับสนุนให้นำองค์ความรู้ทางเทคนิควิชาการที่มี เพื่อพัฒนาสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำโขง ซึ่งประเทศสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาและประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ไทยจะผลักดันให้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงมีความเข้มแข็งและโดดเด่น โดยการร่วมออกแบบองค์กร ให้ทันต่อสถานการณ์การพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการอย่างมีธรรมภิบาล การมุ่งเน้นนวัตกรรม การพัฒนาบนฐานทรัพยากร (Nature-Based Solutions) การใช้ทรัพยากรน้ำเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยพัฒนาสู่การเป็นเวทีด้านการทูตเรื่องน้ำของภูมิภาค

สำหรับผลของการประชุมฯ ผู้นำรัฐบาลประเทศสมาชิกจะรับรองปฏิญญาเสียมราฐ ค.ศ. 2018 ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในการมุ่งเน้นการดำเนินงานตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 มีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มพูนความพยายามและความเป็นหุ้นส่วนของประเทศสมาชิก ในการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง โดยไม่มีการลงนามและไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น