“สรศักดิ์” นำทีมแถลงโต้ “วัชระ” แจงยิบ ปัดทุจริตสร้างรัฐสภาใหม่ อ้างงบปูด 8.6 พันล้านเหตุปรับเพิ่มโครงการเพื่อพัฒนาระบบให้ทันสมัย รอลุ้น ครม.อนุมัติทันกรอบเวลา ยันกระบวนการทุกอย่างถูกต้องตาม กม.จัดซื้อจัดจ้าง จนท.18 คนไม่มีใครคัดค้าน
วันนี้ (12 มี.ค.) นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงชี้แจงข้อกล่าวหาของนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กรณีความไม่โปร่งใสในโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยเฉพาะการของบประมาณรอบใหม่เป็นเงินกว่า 8,658 ล้านบาท ว่าสาเหตุที่ต้องของบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิมตั้งไว้ 3,000 กว่าล้านบาท เป็นเงิน 8,658 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีงบประมาณในเรื่องสาธารณูปโภค และระบบสารสนเทศ หรือไอที โดยการขอเพิ่มตามการออกแบบที่ทันสมัยใหม่และมีความเหมาะสม รวมทั้งค่าตบแต่ง ซึ่งการของบเพิ่มได้มีหารือกับกรมบัญชีกลาง กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโครงการก่อสร้างต่างๆของหน่วยงานรัฐ และได้มีเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นตามแผนว่า รัฐสภา ถ.อู่ทอง จะต้องย้ายไปอยู่แห่งใหม่ย่านเกียกกาย จะเสร็จก่อนบางส่วนภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2561
“ขณะนี้ยังไม่ทราบว่างบประมาณ 8,658 ล้านบาทที่ทางรัฐสภาขอไปจะเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อใดเราคงกำหนดไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับทาง ครม. หากอนุมัติงบประมาณดังกล่าวล่าช้าจะทำแผนการย้ายต้องสะดุดลง และคงต้องใช้แผนสองที่จะต้องไปเช่าสถานที่ที่มีห้องประชุมขนาดใหญ่เพื่อรองรับสมาชิกรัฐสภา แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะเป็นที่ไหน ซึ่งจะทำให้ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นกว่าเดิม”
ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐสภา 18 คนคัดค้านการประมูลโดยวิธีคัดเลือกนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะทั้ง 18 คนไม่ได้คัดค้าน เพียงแต่บอกให้ผู้บริหารปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งทางคณะผู้บริหารของรัฐสภาก็ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมสอบแต่อย่างใด
ด้านนายโชติจุฑา อาจสอน กรรมการบริหารที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การศึกษาระบบไอซีทีแบบเก่าได้ศึกษาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งพบความไม่ทันสมัย ดังนั้น ในปี 2557 จึงได้ศึกษาใหม่โดยว่าจ้างบริษัท เมอร์ลินส์ โซลูชั่นส์ อินเตอร์แนชั่นนัล จำกัด ออกแบบและได้นำคำแนะนำจาก 3 อนุกรรมการของรัฐสภา และ นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พิจารณาประกอบ และสรุปเป็นรายการงานและงบประมาณซึ่งเป็นส่วนที่เติมเต็มจากงานที่เคยตัดออกจากงบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท งานโสตทัศนูปกรณ์ เทคโนโลยีสารสนเทศกระจกโดยรอบโดมห้องประชุม, ระบบปรับอากาศ, ระบบควบคุมไฟอัตโนมัติ ระบบรักษาความปลอดภัย ดังนั้นการออกแบบใหม่ต้องเติมส่วนที่ตัดออกไปด้วย โดยงานระบบรักษาความปลอดภัย มีวงเงิน 586 ล้านบาท, ระบบไอซีที มีวงเงิน 2,759 ล้านบาท แบ่งเป็น งานระบบเครือข่ายสื่อสาร จำนวน 815 ล้านบาท, เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และซอฟแวร์สนับสนุน จำนวน 1,448 ล้านบาท, เครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วงและโทรทัศน์ วงเงิน 324 ล้านบาท และระบบสารสนเทศ 170 ล้านบาท
นายโชติจุฑากล่าวต่อว่า ขณะที่งานระบบที่ไม่ใช่ส่วนของไอที (นอนไอที) คือ ระบบไฟฟ้า วงเงิน 276 ล้านบาท, งานรักษาความปลอดภัยในอาคาร วงเงิน178 ล้านบาท, งานประกอบอาคาร 594 ล้านบาท, งานจัดสร้างศูนย์ข้อมูลหลัก สำรอง 895 ล้านบาท และงานโสตฯ วงเงิน 2,244 ล้านบาท
นายประสิทธิ์ อนันตวิรุฬห์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ขอไป 8,658 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น 3 งวด งวดแรก ขึ้นอยู่กับ ครม.ว่าจะอนุมัติจากงบกลางเท่าไหร่ แต่หวังว่าจะได้มาพอที่จะเดินหน้าทำโครงการต่อไป เมื่อได้งบมาแล้วจะเปิดให้บริษัทต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมยื่นซองประมูลประมาณเดือนเมษายนนี้เพื่อดำเนินการงบประมาณที่มีอยู่ ส่วนที่เหลือจะแบ่งจ่ายจากงบประมาณปกติปี 2562 และปี 2563 เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 15 ธันวาคม 2562