xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” ชี้คำสั่ง คสช.ตั้งพรรคต้องขอเป็นรายพรรค ยันเหลือ กกต.3 คนทำงานได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กรธ.ระบุตั้งพรรคฯ จะต้องขออนุญาตจาก คสช.เป็นรายพรรคฯ ก่อน ตามเงื่อนไขคำสั่ง คสช. ชี้ กกต.เหลือ 3 คนยังทำงานได้ ปัดแสดงความเห็นความเหมาะสม “สมชัย” ไปสมัครเลขาฯ กกต. มองปัญหาคัดเลือกบุคคลจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็น กกต. อาจปรับให้มีความเปิดเผยขึ้น ส่วน 2 คนจากศาลฎีกา อาจเสนอให้ สนช.ลงมติได้อีกครั้ง

วันนี้ (27 ก.พ.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ชี้แจงเกี่ยวกับเงื่อนไขการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่กำลังจะเริ่มตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้ว่า การดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ต้องได้รับการอนุญาตจาก คสช.เป็นรายพรรคการเมือง ที่ต้องมีทั้งการชักชวนกลุ่มคนริเริ่ม จัดหาสมาชิกพรรค เรียกเก็บเงินทุนประเดิมพรรคการเมือง ประชุมใหญ่ตั้งชื่อพรรค จัดทำข้อบังคับ แล้วจึงมาทำเรื่องจดทะเบียนพรรคการเมือง ตามกระบวนการในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560

นายมีชัยยังปฏิเสธที่จะตอบถึงจะเหมาะสม กรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการ กกต. แต่เรื่ององค์ประชุมของ กกต.ต้องดูตามเจตนารมณ์ ซึ่งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติในกฎหมาย กกต.ให้ยึดเรื่องอัตราส่วนเป็นหลัก ที่กำหนดไว้ว่า องค์ประชุมต้องมี 5 คนจากทั้งหมด 7 คน แต่เมื่อปัจจุบันมี 5 คน เทียบอัตราส่วนแล้วองค์ประชุมก็จะต้องมี 3 คนกว่าๆ หรือคิดเป็น 4 คน แต่ถ้าต่ำกว่ากึ่งหนึ่งคือ 2.5 คน หรือต่ำกว่า 3 คน ก็จะต้องไปแต่งตั้งเพิ่ม แต่ถ้าหากเกินกึ่งหนึ่ง ก็ยังสามารถทำหน้าที่ได้ในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ส่วนกรณีที่มี กกต.กำลังจะพ้นจากหน้าที่เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปี หัวหน้า คสช.จะสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อให้รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีกกต.ชุดใหม่มาทำหน้าที่แทนได้หรือไม่นั้น นายมีชัยบอกว่า ไม่สามารถตอบแทนได้เพราะไม่ใช่คนใช้อำนาจมาตรา 44

นายมีชัยยังกล่าวถึงกระบวนการสรรหา กกต.รอบ 2 ว่า ในสัดส่วนการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หากเป็นปัญหาต่อการตัดสินใจลงมติในครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจจะใช้วิธีการที่เปิดเผยมากขึ้น อาจหาวิธีใหม่ที่ไม่เป็นที่สงสัย หลักการคัดเลือกโดยเปิดเผยนั่นหมายความว่าเป็นวิธีการที่บุคคลทั่วไปสามารถรับรู้ได้ว่าใครเลือกใคร ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี

ส่วนข้อห้ามที่ไม่ให้ผู้ที่ได้รับการสรรหาซึ่ง สนช.ลงมติไม่เห็นชอบกลับเข้ามารับการสรรหาอีกไม่ได้นั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกมา ดังนั้น สองบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกในครั้งที่ผ่านมาอาจได้เสนอชื่ออีกเป็นครั้งที่2 ก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น