xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึกเททิ้งว่าที่ กกต. “ฐากร”ยิ้มร่าคุม กสทช.ต่อ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ป้อมพระสุเมรุ

                    

เซอร์ไพร์สไปตามๆกัน เมื่อ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติไม่เห็นชอบ “ว่าที่ กกต.” ที่ผ่านการสรรหาตามกระบวนการทั้ง 7 ราย

เรียกว่า “เททิ้งยกชุด” แบบงงกันทั้งเมือง เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่ “กรรมการองค์กรอิสระ” ถูกคว่ำยกชุด โดยฝ่ายนิติบัญญัติ ตั้งแต่เริ่มมีมาในรัฐธรรมนูญ 2540

โดยผลคำแนนไล่เรียงเป็นรายๆ 1. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 156 คะแนน เห็นชอบ 27 คะแนน และงดออกเสียง 17 คะแนน 2.นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ ไม่เห็นชอบ 175 คะแนน เห็นชอบ 10 คะแนน และงดออกเสียง 14 คะแนน

3.นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ไม่เห็นชอบ 168 คะแนน เห็นชอบ 16 คะแนน และงดออกเสียง 16 คะแนน 4. นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ไม่เห็นชอบ 149 คะแนน เห็นชอบ 30 คะแนน และงดออกเสียง 21 คะแนน 5.นายประชา เตรัตน์ ไม่เห็นชอบ 125 คะแนน เห็นชอบ 57 คะแนน และงดออกเสียง 18 คะแนน

6. นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ไม่เห็นชอบ 128 คะแนน เห็นชอบ 46 คะแนน และงดออกเสียง 26 คะแนน และ 7. นายปกรณ์ มหรรณพ ไม่เห็นชอบ 130 คะแนน เห็นชอบ 41 คะแนน และงดออกเสียง 29 คะแนน

ซึ่งคะแนนมากน้อยที่ลดหลั่นกันแต่ละรายนั้น ไม่ได้มี“นัยสำคัญ” ใดๆ ด้วยบทสรุปก็คือ ทั้ง 7 ว่าที่ กกต.ซดน้ำแห้วกันหมด

พร้อมขีดเส้นใต้หนาๆไว้ด้วยว่า ทั้งหมดไม่สามารถร่วมการสรรหาครั้งใหม่ได้ ด้วยมีตำหนิที่ สนช. มีมติไม่เห็นชอบไปแล้ว
น่าสนใจว่า ก่อนการลงมติเพียงหนึ่งวัน นายสมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. เพิ่งให้ข่าวว่า คณะกรรมาธิการสามัญฯได้ตรวจสอบประวัติผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น กกต.ทั้ง 7 รายเสร็จแล้ว ไม่พบว่ามีปัญหาทางจริยธรรม และพฤติกรรมความผิดร้ายแรง มีเพียงบางรายที่มีปัญหาถูกร้องเรียนเล็กน้อย ในรายของ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถูกร้องเรียนทางคดีถึง 300 คดี แต่เป็นคดีทางปกครองในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ส่วน นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ ก็มีประวัติลาประชุมบ่อย เนื่องจากมีอาการป่วยเท่านั้น

ทำให้เชื่อกันว่า การลงมติ 7 ว่าที่ กกต.จะฉลุยอย่างแน่นอน

สถานการณ์เปลี่ยนไป “หน้ามือเป็นหลังเท้า” เมื่อเข้าสู่วาระการประชุม ที่เป็นการประชุมลับ พิจารณารายงานลับของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน ที่ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษ ก่อนที่ผลจะออกมาอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

หะแรกที่ทราบผล หลายฝ่ายต่างคิดไปในทำนองว่า เป็น “ลูกเล่น” ของ “องคาพยพ คสช.” ในการถ่วงเวลาให้ยืดโรดแมปการเลือกตั้งออกไปอีก แต่เมื่อไล่ดูกระบวนการหลังจากนี้ ที่ ประธาน สนช. จะต้องรายงานการประชุมไปให้คณะกรรมการสรรหา และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อดำเนินการสรรหาบุคคลมาให้ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็ไม่กระทบต่อการเตรียมการเลือกตั้ง เนื่องจาก “กกต.ชุดปัจจุบัน” ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้

ดังนั้น ก็สบายใจกันได้ว่าเกมคว่ำกระดานครั้งนี้ “ไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง” อย่างแน่นอน

ก็ต้องมีคำถามตามมาอีกว่า แล้วเหตุใด สนช.ที่ได้ชื่อว่าเป็น “สภาฝักถั่ว” ในอาณัติของ “รัฐบาลทหาร” จึงตัดสินใจออกมาเช่นนี้

ตอบแทนว่า ผู้ได้รับสรรหาบางรายนั้นมีปัญหาจริง โดยเฉพาะ “สายตุลาการ” 2 ราย คือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และนายปกรณ์ มหรรณพ ที่ยังมีข้อติดใจในเรื่อง “ลงมติเปิดเผย” หรือไม่

แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องโหวตคว่ำยกชุดขนาดนี้ ควรที่จะลงมติไม่เห็นชอบเป็น “รายบุคคล” มากกว่า เช่นเดียวกับผู้ได้รับการสรรหารายอื่นๆ หากมีปัญหาส่วนบุคคล

หลังการโหวต ก็มีความพยายามปล่อยข่าวจากคนใน สนช. ถึงเหตุผลที่การลงมติออกมาหน้านี้ ว่า สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นในฝีมือของผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้ง 7 คน ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของสาธารณชน และยังไม่เคยแสดงฝีมือการทำงานให้เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พร้อมทั้งยืนยันว่า การลงคะแนนของสมาชิก สนช. เป็นการตัดสินใจแบบ “กระทันหัน” หลังการประชุมลับ

ก็เท่ากับว่า สนช.ส่วนใหญ่ ไม่เชื่อมั่นใน “คณะกรรมการสรรหา” อันประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานฯ, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญ, ตัวแทนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน, ตัวแทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ที่สำคัญ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ก็เป็นหนึ่งในกรรมการสรรหาด้วย เท่ากับสมาชิก สนช.ไม่ได้ไว้หน้าประธานของตัวเองเลย

แต่ 5 คนที่กรรมการสรรหาฯ คัดเลือกมา ปรากฏว่า สนช.ไม่เอาด้วยเลย ถือว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐาน และทำให้การสรรหาครั้งต่อไปย่อมมีปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หาก “เหตุผล” เรื่องการไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นจริง

อีกทั้งก็ต้องย้อนกลับไปถึงปมปัญหาตั้งแต่ “ต้นน้ำ” หรือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ที่กำหนด “คุณสมบัติ - ลักษณะต้องห้าม” ไว้สูงลิบ จนถูกขนานนามว่า “สเปกเทพ” เป็นเหตุให้ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาจำนวน 41 คน ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเพียง 15 คน ก่อนได้รับการคัดเลือกเหลือ 5 คนดังกล่าว

ที่สำคัญบรรดาผู้ที่ตกรอบไปล้วนแล้วแต่เป็น “บิ๊กเนม” ทั้งสิ้น

หากพิจารณาตาม “ข้อจำกัด” ที่ว่านี้ ประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดเลือกตั้ง จึงไม่น่าจะใช่ “เหตุผล” ที่มีน้ำหนักเพียงพอถึงขั้นที่ทำให้ สนช. ลงมติไม่เห็นชอบทั้งหมด

ด้วยผู้ที่มีประสบการณ์ตรงด้านการเลือกตั้ง แล้วเข้าเกณฑ์ “สเปกเทพ” โดยเฉพาะเงื่อนไขการเป็น“หัวหน้าส่วนราชการ” ติดต่อกัน 5 ปีตามกฎหมายนั้น แทบไม่มีในแผ่นดินไทย

ถ้ายึดบรรทัดฐานนี้ เลือกกันให้ตายก็ไม่มีทางได้ กกต.ชุดใหม่

คุณสมบัติ “ประสบการณ์ตรงด้านการเลือกตั้ง” จึงเป็นเพียง “ข้ออ้าง” เพื่อคว่ำกระบวนการในครั้งนี้เป็นการ “เฉพาะกิจ” เท่านั้น

ส่วนเหตุผลจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่ามาจากผู้ได้รับคัดเลือกจาก “สายตุลาการ” ในเรื่อง “ลงมติไม่เปิดเผย” ที่ควรกลับไปดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องเท่านั้น

หากแต่ช่วงกลางดึกก่อนการลงมติของ สนช. มีข่าวแพร่สะพัดว่า มี “ว่าที่ กกต.สายสรรหา” บางราย เดินเกม“ผสมโรง” เพื่อให้ล้มกระบวนการในชุดนี้ทั้งหมด ด้วย “เหตุผลส่วนตัว” ที่ไม่อยาก “ย้ายที่ทำงาน” เป็นที่มาของ “ใบสั่ง” ที่ยิงตรงไปยัง “สภาฝักถั่ว”

ไล่เรียงดู “คนอกหัก” ทั้ง 7 ราย ส่วนใหญ่ต้องชอกช้ำ ด้วยหลายคนว่างเว้นจากงานประจำมาพอสมควร จึงหมายมั่นกับงาน กกต.เอาไว้มาก หลายคนตัดชุด เตรียมเข้าประจำการรับสมญา “7 อรหันต์” แล้วด้วยซ้ำ

ทั้ง นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ , นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท วรวิสิฏฐ์ จำกัด และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายสุธีรชาติ และนายประชา เตรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี ส่วนสายตุลาการ 2 ราย ก็ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม

แต่ที่ดูจะโล่งใจที่สุด คงเป็น นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ที่เคยระบุว่า “งาน กสทช.ก็ยังแฮปปี้อยู่”
ด้วยยังมีงานคั่งค้างอยู่ที่ทำงานเดิม ไม่ว่าเป็นการดำเนินโครงการเน็ตชายขอบ ที่ตั้งไข่ทำคลอดมากับมือ หรือการประมูลคลื่นความถี่ต่างๆ ในเวลาอันใกล้นี้ ตลอดจนการเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับ กสทช.ชุดใหม่ ที่กำลังอยู่ในกระบวนการสรรหา ด้วยวาระการดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ในเดือน ก.ย.63 หรือราวๆ 2 ปีครึ่งเลยทีเดียว

ที่ผ่านมาจึงจับสังเกตได้ว่า “เลขาฯฐากร” มีอาการ “ห่วงหน้าพะวงหลัง” ไม่น้อย หลังไปกรอกใบสมัครรับการสรรหาเป็น กกต. “แบบเสียไม่ได้” แล้วเผอิญได้เข้ารอบไฟนอล

เมื่อ สนช.ลงมติเช่นนี้ เพื่อนร่วมชะตากรรมรายอื่นอาจจะ “เซ็งเป็ด” แต่รายของ “เลขาฯฐากร” น่าจะ “ยิ้มร่า” ที่ได้อยู่ทำงานใน “อาณาจักรซอยสายลม” อันเป็นที่รักต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น