xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.เบรก มท.ปัดฝุ่นแก้กฎหมาย “องค์การเภสัช” ผลิตยาบ้า-ไอซ์ ขายผู้ป่วยติดยาฯ อ้างลดแรงจูงใจผู้ผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ป.ป.ส.เบรก “มท.-ศอ.ปส.ร้อยเอ็ด” ปัดฝุ่นแก้กฎหมายให้องค์การเภสัช ผลิตยาบ้า-ไอซ์ขายผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด อ้างลดแรงจูงใจผู้ผลิต รัฐกำกับได้ง่าย ยก 2 กม.ไทย พ่วงอนุสัญญาฯ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ชี้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง “WHO” ห้ามประเทศภาคีแก้กฎหมายผิดหลักสากล แม้มีประโยชน์แค่เล็กน้อย เผยอนุฯ สารตั้งต้นยาบ้าอยู่ระหว่างรวบรวมผลดีผลเสีย และผลกระทบหากปรับนโยบาย ส่วน “สารอนุพันธ์” จ่อใช้รักษาโรคสมาธิสั้นในอนาคต

วันนี้ (13 ก.พ.) แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงมหาดไทย (ศอ.ปส.มท.) แจ้งกรณี ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จังหวัดร้อยเอ็ด (ศอ.ปส.จ.รอ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธาน ได้เสนอความเห็นมายัง สำนักงาน ป.ป.ส. โดยในคราวการประชุม ศอ.ปส.จ.ร้อยเอ็ด ได้เสนอให้สำนักงาน ป.ป.ส.ดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ในประเด็นที่ให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเมทแอมฟาตามีน (ยาบ้า) เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด

“หากให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเมทแอมฟาตามีน (ยาบ้า) ราคาถูก เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด จะสามารถตัดวงจรการค้ายาเสพติดได้ ทำให้ผู้ผลิตไม่มีแรงจูงใจ จะทำให้เลิกผลิตไป และรัฐสามารถวางกฎและระเบียบปฏิบัติต่อผู้เสพที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การแพร่ระบาดยาเสพติดลดลงได้” ข้อเสนอของ ศอ.ปส.จ.ร้อยเอ็ด ระบุ โดยล่าสุดนายฉัตรชัยได้รับทราบและรายงานต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยแล้ว

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า สำหรับหนังสือที่ ป.ป.ส.ได้แจ้งกลับไปยัง ศอ.ปส.จ.ร้อยเอ็ด แจ้งว่า ข้อเสนอของ ศอ.ปส.จ.ร้อยเอ็ด เป็นความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายยาเสพติดแนวใหม่ สำนักงาน ป.ป.ส.ยินดีรับฟังความคิดเห็นและขอขอบคุณสำหรับ ข้อแนะนำของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการบ่รับปรุงกฎหมายยาเสพติดให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ปัญหาในทุกด้าน

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาเสพติดดังกล่าวข้างต้นนั้นจะต้องคำนึงถึงปัจจัยและข้อจำกัดที่สำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่ ข้อบทต่างๆ ของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ข้อมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ และคำมั่นต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีและยอมรับปฏิบัติ

โดยได้นำมาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติยาเสพติดไห้โทษ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ส.ได้ดำเนินการปรับนโยบายและมาตรการในการควบคุมตัวยาเสพติด ได้แก่ อนุสัญญา ว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ.1971 (The Convention on Psychotropic Substances, 1971) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการควบคุมการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และ ครอบครองวัตถุออกฤทธิ์ที่อาจก่อให้เกิดการเสพติด หรืออาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือทำให้เกิดปัญหาในด้านสาธารณสุขและสังคม รวมถึงการจำกัดการใช้วัตถุออกฤทธิ์บางชนิดได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น

นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ประเทศภาคีจะต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับและให้ความร่วมมือในการควบคุมและจำกัดการใช้ การผลิต นำเข้า จำหน่าย และครอบครอง โดยให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ระหว่างประเทศ (INCB) เป็นองค์กรในการควบคุม สำหรับการกำหนดชื่อวัตถุออกฤทธิ์ที่จะควบคุมภายใต้ อนุสัญญาดังกล่าวนั้น “คณะกรรมาธิการยาเสพติด” โดยคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้พิจารณา

“โดยกรณีเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า และไอซ์) ได้ถูกควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ตามบัญชี 2 ท้ายอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งถูกจำกัดให้นำไปใช้ได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น ห้ามนำไปใช้นอกวัตถุประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชน และมีประโยชน์ในการนบำบัดรักษาเพียงเล็กน้อย”

นอกจากนี้ ในส่วนของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 จากอนุสัญญาดังกล่าว ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของอนุสัญญามีความผูกพันตามกรอบพันธกรณีดังกล่าว ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้อออกประกาศ เพื่อควบคุมและกำหนดให้เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า และไอซ์) เป็น “ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1” ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งถือเป็น “ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง” เข่นเดียวกับเฮโรอีน เนื่องจากมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และไม่อนุญาตให้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการบำบัดรักษาผู้ห้วย รวมทั้งห้ามเสพโดยเด็ดขาด ผู้ฝ่าฝืน มีความผิดอาญา และผู้เสพจะถูกส่งเข้ารับการบำบัดรักษาแทนการลงโทษจำคุกตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับการดำเนินการปรับนโยบายและมาตรการในการควบคุมตัวยาเสพติด คณะอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน ซึ่งมีปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ได้เปิดช่องให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ โดยกรณี "เมทแอมเฟตามีน" อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ ผลดี ผลเสีย และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการควบคุม ซึ่งในเบื้องต้น คณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอที่จะควบคุมเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้าและไอซ์) เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อไป

"ส่วนอนุพันธ์ของเมทแอมเฟตามีนบางชนิด เช่น แอมเฟตามีน หรือไมดาฟินีล ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้ในทางการแพทย์อยู่บ้างเพื่อรักษาโรคสมาธิสั้นหรือใช้เป็นสารทดแทน คณะอนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งว่าจะควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หรือควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ โดยจะต้องมีมาตรการในการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิดดัวย

หนังสือ ป.ป.ส.ย้ำสุดท้ายว่า จากข้อกฎหมายและสภาพความเป็นจริงที่กล่าวมาข้างต้น การจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้องค์การเภสัชกรรมผลิตเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เพี่อบำบัดรักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด อาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า และไอซ์) เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ได้พิจารณามาแล้วว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อสุขภาพของประชาชน และมีประโยชน์ในการบำบัดรักษาเพียงเล็กน้อย

“ดังนั้น จึงต้องพิจารนาถึงความเหมาะสมอย่างรอบคอบและรอบด้าน การปรับนโยบายและมาตรการในการควบคุมเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า และไอซ์) จะต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นลำดับแรก ส่วนกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดก็ต้องดำเนินการปราบปรามอย่างเด็ดขาดต่อไป ผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดก็ตองให้ความรู้ ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพ ให้การสงเคราะห์ติดตามและช่วยเหลือ รวมถึงการดำเนินมาตรการในการป้องกันและไม่ให้เกิดผู้เสพรายใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เน้นกลุ่มเสี่ยง”

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2559 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ในสมัยดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม กล่าวในระหว่าง เวทีแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อนำเสนอนโยบายยาเสพติดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) ตอนหนึ่งว่า เชื่อว่ายาบ้าเป็นสินค้าเศรษฐกิจ ไม่มีทางที่จะทำให้หมดไปได้ ดังนั้น ขอถามไปที่กระทรวงสาธารณสุขว่า จะทำอย่างไรให้ยาบ้าเหลือเม็ดละ 50 สตางค์ ขอให้บอกตนพร้อมทำให้ทันที “เพราะคงไม่มีหน่วยใดที่จะรู้ข้อมูลพื้นที่และบุคคลได้มากเท่าท้องถิ่น ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เช่นเดียวกับระบบป้องกันที่พื้นที่ควรมีบทบาทมากที่สุด”

ขณะที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ขณะนั้นระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขจะไม่เป็นผู้ผลิตยาเสพติดราคาถูกแน่นอน โดยกระแสข่าวที่แนะนำให้ สธ.ไปผลิตนั้น คาดว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิดมากกว่า





กำลังโหลดความคิดเห็น