“กรุงเทพโพลล์” เปรียบเทียบ รัฐบาลประยุทธ์ 2 ปีแรก vs 2 ปี หลังพบมีค่าเฉลี่ยลดลงเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาทุจริต และการสร้างความโปร่งใสติดลบมากที่สุด ขณะที่คะแนนความเชื่อมั่นร้อยละ 52.2 และอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงบางตำแหน่ง สูสีกับไม่เชื่อมั่นที่ ร้อยละ 47.8 และอยากให้เลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่เข้ามา
วันนี้ (10 ก.พ.) “กรุงเทพโพลล์” โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “2 ปีแรก vs 2 ปีหลัง การทำหน้าที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,228 คน พบว่า
ในภาพรวมคะแนนการทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วง 2 ปีแรก เทียบกับ ช่วง 2 ปีหลังพบว่า ในช่วง 2 ปีแรก ได้ค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 6.31 คะแนน ส่วนในช่วง 2 ปีหลัง ได้คะแนนเฉลี่ยรวมเท่ากับ 6.04 คะแนน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบช่วง 2 ปีแรกกับช่วง 2 ปี หลังพบว่ามีค่าเฉลี่ยลดลง 0.27 คะแนน
เมื่อแยกพิจารณาพบว่าในช่วง 2 ปีแรกด้านที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (6.81 คะแนน) รองลงมาคือ ด้านการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (6.67 คะแนน) และด้านการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน การสร้างความโปร่งใส (6.65 คะแนน)
ส่วนในช่วง 2 ปีหลังพบว่า ด้านที่ได้คะแนนมากที่สุด คือ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (6.62 คะแนน) รองลงมา คือ ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค ขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า (6.47 คะแนน) และด้านการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (6.36 คะแนน)
เมื่อเปรียบเทียบในช่วง 2 ปีแรก กับ ในช่วง 2 ปีหลังพบว่า ด้านที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค ขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า (เพิ่มขึ้น 0.19 คะแนน) รองลงมาคือ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น โครงการประชารัฐ (เพิ่มขึ้น 0.06 คะแนน) และด้านความสัมพันธ์กับนานาประเทศ ในทุกภูมิภาค (เพิ่มขึ้น 0.02 คะแนน)
ส่วนด้านที่ได้คะแนนลดลงมากที่สุด คือ ด้านการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันการสร้างความโปร่งใส (ลดลง 0.76 คะแนน) รองลงมาคือ ด้านการปฏิรูปการเมืองและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และเศรษฐกิจของคนในประเทศ (ลดลงเท่ากัน 0.54 คะแนน)
สุดท้ายเมื่อถามว่า “ท่านยังเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในการบริหารประเทศหรือไม่อย่างไร” พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 52.2 ยังเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 40.7 เชื่อมั่นในการทำหน้าที่แต่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในบางตำแหน่ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 11.5 เชื่อมั่นการทำหน้าที่ทุกๆ ตำแหน่ง ขณะที่ร้อยละ 47.8 ไม่เชื่อมั่นในการทำหน้าที่ อยากให้มีการเลือกตั้ง เพื่อได้รัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ