xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 7 โครงการ งบกลาง 2 พันล้าน เฉพาะ “มท.” จ้างที่ปรึกษาพัฒนาเมืองเก่า 110 ล้าน-ตั้งเขตเที่ยวโอทอป 641 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิด 7 โครงการ งบกลาง 2 พันล้าน เฉพาะ “มหาดไทย” 2 โครงการ เคาะ 700 ล้าน จ้างที่ปรึกษาพัฒนา 24 เมืองเก่า 23 จังหวัด 110 ล้าน ตั้งเขตท่องเที่ยวโอทอป 32 จังหวัด 641 ล้าน ส่วน “สตช.” ได้งบ 183 ล้าน ซื้อ “ระบบ X-RAY” เกาะภูเก็ต หวังลดอาชญากรรม ด้าน จ.พิจิตร ได้งบ 65 ล้าน สร้างทางจักรยาน 2 กิโลเมตร “บึงสีไฟ” เผย 3 สถาบัน 3 ภูมิภาค ได้ 1 พันล้าน ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ชู Smart City

วันนี้ (3 ก.พ.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ครั้งที่ 3 เป็นค่าใช้จ่าย จำนวน 7 โครงการ 7 หน่วยงาน วงเงิน 2,105,967,560 บาท ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือเพื่อแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการอนุมัติ งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ ครั้งที่ 3

โดย 7 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการของหน่วยงาน กระทรวงมหาดไทย (23 จังหวัด) เสนอวงเงิน 116,481,600 บาท ได้รับความเห็นชอบ 110,405,460 บาท 2. โครงการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอวงเงิน 348,088,100 บาท ได้รับความเห็นชอบ 331,831,600 บาท 3. โครงการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอวงเงิน 600,000,000 บาท ได้รับความเห็นชอบ 484,262,600 บาท 4. โครงการของสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เสนอวงเงิน 300,000,000 บาท ได้รับความเห็นชอบ 289,930,600 บาท 5. โครงการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอวงเงิน 183,000,000 บาท ได้รับความเห็นชอบ 183,000,000 บาท 6. โครงการของกรมพัฒนาชุมชน เสนอวงเงิน 641,537,300 บาท ได้รับความเห็นชอบ 641,537,300 บาท และ 7. โครงการของจังหวัดพิจิตร เสนอวงเงิน 65,000,000 บาท ได้รับความเห็นชอบ 65,000,000 บาท

มีรายงานว่า ครม. ยังเห็นชอบในหลักการและให้สำนักงบประมาณพิจารณาแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณกับ 2 กระทรวง 19 โครงการ วงเงินขอรวม 7,695,051,820 บาท ที่ได้รับอนุมัติ ประกอบด้วย 1. โครงการของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 5 โครงการ วงเงิน 4,203,641,820 บาท ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 1 โครงการ วงเงิน 602,277,320 บาท และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 4 โครงการ วงเงิน 3,601,364,500 บาท และ 2. โครงการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 14 โครงการ วงเงิน 3,491,410,000 บาท


มหาดไทย จ้างที่ปรึกษาอนุรักษ์และพัฒนา 24 เมืองเก่า 23 จังหวัด 110 ล้าน

สำหรับโครงการของกระทรวงมหาดไทย ที่เสนอให้กับ 23 จังหวัด เป็นโครงการพัฒนาเมืองเก่า โดยวงเงิน ทั้งหมดเป็นการจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ให้กับเมืองเก่าที่ได้รับการประกาศเขตพื้นที่ตามมติ ครม. จำนวน 24 เมือง ใน 23 จังหวัด เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน โดนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่

“23 จังหวัด 24 เมืองเก่า ที่มหาดไทยของบประมาณ ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ 4,803,800 บาท จ.ลำปาง 4,803,800 บาท จ.กำแพงเพชร 4,730,900 บาท จ.ลพบุรี 4,736,400 บาท อ.พิมาย จ.นครราชสีมา 3,067,700 บาท จ.นครศรีธรรมราช 4,816,800 บาท จ.แพร่ 4,816,800 บาท จ.เพชรบุรี 4,522,600 บาท จ.จันทบุรี 4,701,380 บาท จ.ปัตตานี 4,801,800 บาท จ.เชียงราย 4,816,800 บาท จ.สุพรรณบุรี 4,605,400 บาท จ.ระยอง 4,701,380 บาท จ.บุรีรัมย์ 4,801,800 บาท อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา 4,816,800 บาท จ.พะเยา 4,816,800 บาท จ.ตาก 4,501,400 บาท จ.นครราชสีมา 2,772,700 บาท จ.สกลนคร 4,816,800 บาท จ.สตูล 4,801,800 บาท จ.ราชบุรี 4,713,200 บาท จ.สุรินทร์ 4,804,800 บาท จ.ภูเก็ต 4,816,800 บาท และ จ.ระนอง 4,816,800 บาท”

3 สถาบัน 3 ภูมิภาค ร่วมเอกชน ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ชู Smart City 1 พันล้าน

ส่วนอีก 3 โครงการ ของสถาบันการศึกษา 3 แห่ง เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยเสนอ เพื่อให้มีความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อที่จะช่วยหลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่สามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 โดยเป็นโครงการในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้ง 3 เศรษฐกิจหลักของประเทศได้แก่ เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ประกอบด้วย

โครงการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 331,831,600 บาท ได้แก่ โครงการขับเคลื่อนนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สารสกัดในการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์, การพัฒนาและต่อนอกเครื่องสำอางแบบครบวงจร, การพัฒนาต่อยอดเครื่องมือทางการแพทย์, Smart PSU Campus, ปัตตานีเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนเส้นทางพหุแหวนวัฒนธรรม (Pattani Heritage City)

โครงการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 484,262,600 บาท ได้แก่ โครงการนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของอีสานทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคม ประกอบด้วย โรงงานต้นแบบประกอบแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจากวัสดุนาโนแกลบ, การพัฒนาสมรรถนะนักเรียนมัธยมศึกษาด้วยนวัตกรรม (KKU Smart Learning) ,การวิจัยและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ, การพัฒนาโรงงานต้นแบบสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร

โครงการของสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 289,930,600 บาท ได้แก่ โครงการศูนย์วิจัยพัฒนา ทดสอบ และถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟคามเร็วสูงของประเทศไทย เป็นงบวิจัน การผลิตและพัฒนาแรงงาน การเป็นศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง และการสรุปติดตามและประเมินผลโครงการ

“โครงการวงเงิน 100 ล้านบาท ที่ ม.ขอนแก่น เสนอ จัดตั้งโรงงานต้นแบบเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ จากอ้อย มันสำปะหลัง และขอเสียจากอุตสาหกรรมอ้อยและมันสำปะหลัง ไม่ผ่านการเห็นชอบเนื่องจากปัจจุบันภาคเอกชนมีโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ ซึ่งดำเนินการในเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว โดยขอให้ใช้โรงงานของเอกชนเป็นสถานที่ศึกษาเรียนรู้แทนโดยสามารถร่วมมือประสานกันได้”

สตช. 183 ล้าน ระบบ X-RAY เกาะภูเก็ต-มท. 641 ล้านท่องเที่ยวโอทอป-พิจิตร 65 ล้านทางจักรยาน 2 กม.

สำหรับอีก 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วงเงิน 183,000,000 บาท “โครงการจัดซื้อระบบ X-RAY ตรวจหาวัตถุระเบิดแบบมาตรฐาน ANSLN จำนวน 1 ระบบ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาความปลอดภัยเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และเสริมสร้างความมั่นคงเพื่อให้ จ.ภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัยระดับโลก การจัดซื้อระบบ X-RAY จะสามารถตรวจหาวัตถุระเบิด ยาเสพติด และสิ่งของผลิตกฎหมายในยานพาหนะและวัตถุต้องสงสัยได้

โครงการของกรมพัฒนาชุมชน 641,537,300 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย โครงการหมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว 8 เส้นทาง เขตพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อเป็นจัดเริ่มต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าขับเคลื่อนตามภารกิจ โดยกระทรวงมหาดไทย เสนอเป้าหมาย 125 หมู่บาน 32 จังหวัด เพื่อกระจายร่ายได้เข้าสู่ชุมชน

“ส่วน โครงการของจังหวัดพิจิตร 65,000,000 บาท เป็นโครงการก่อสร้างทางจักรยานรอบบึงสีไฟ เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนงานโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำบึงสีไฟ ที่กรมเจ้าท่ารับผิดชอบ เป็นแผนระยะที่ 1 ก่อสร้างทางจักรยานด้านหน้าบึงสีไฟ บริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์พิจิตร และ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ (มิใช่พื้นที่ขุดลอกตามแผนของกรมเจ้าท่า) ระยะทาง 2 กิโลเมตร และระยะที่ 2 เมื่อดำเนินการก่อสร้างทางจักรยานระยะที่ 1 แล้วเสร็จ ก็สามารถก่อสร้างทางจักรยานในระยะทางต่อไปได้ในพื้นที่ ที่มีการขุดลอกต่อเนื่องไปจนเสร็จสิ้นการดำเนินการของกรมเจ้าท่า“อินฟินิตี้ อินดี้”





กำลังโหลดความคิดเห็น