ศาลปกครองกลางไฟเขียวยึดทรัพย์ “ยิ่งลักษณ์” ยกคำขอทุเลาคำสั่งยึดทรัพย์ 3.5 หมื่นล้านคดีทุจริตจำนำข้าว ชี้คลังมีความสามารถชำระคืนได้หากศาลพิพากษาคำสั่งชดใช้ไม่ชอบ ซ้ำพบมีพฤติการณ์ถ่ายเททรัพย์ เสียงข้างน้อยแย้งคำสั่งยึดทรัพย์อาจอคติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้านทนายเตรียมใช้สิทธิแย้งหากยึดนอกกรอบ กม.
วันนี้ (29 ม.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของนายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 4 คน ที่สั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท จากกรณีที่ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กระทำการโดยจงใจปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และทำให้ทางราชการเสียหาย โดยศาลเห็นว่าเมื่อพิจารณาคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ได้ยื่นคำขอเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 60 และข้อเท็จจริงจากการชี้แจงของคู่กรณี รวมถึงกรมบังคับคดีแล้วเห็นว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะอ้างเหตุของความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งเรียกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ชดใช้เงินหลายประการ และนายกฯ กับพวกได้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ในเมื่อการที่จะวินิจฉัยว่าคำสั่งพิพาทจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นในเนื้อหาของคดีที่ศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป
ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่า ได้มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองในการยึดอายัดทรัพย์สินบางรายการไปแล้วทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ยากแก่การเยียวยาภายหลังนั้น เห็นว่า นอกจากกระทรวงการคลังจะมีศักยภาพในการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นในภายหลัง หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพิพาทแล้ว ข้อเท็จจริงยังปรากฏด้วยว่าในส่วนข้อมูลในบัญชีเงินฝากทั้ง 16 บัญชีที่กรมบังคับคดีชี้แจงต่อศาลว่าตามบัญชีรายการแสดงทรัพย์และหนี้สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช.เมื่อพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี มีจำนวนรวม 24,908,420.28 บาท เปรียบเทียบการอายัดเงินฝากในธนาคารของกรมบังคับคดีจำนวน 1,969,884.31 บาท ลดลงจากเดิมจำนวน 22,938,535.97 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92.09 โดยศาลได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทราบแล้ว แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ชี้แจงหรือโต้แย้งข้อมูลดังกล่าว กรณีจึงน่าเชื่อได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินดังกล่าวจริง ประกอบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้ถูกดำเนินการตามมาตรการบังคับทางปกครอง ไม่ได้อุทธรณ์การบังคับทางปกครองตามมาตรา 62 ของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าหากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่พิพาทจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง จึงต้องถือว่าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งพิพาทที่เกิดขึ้นไม่ครบถ้วน ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 59 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้
อย่างไรก็ตาม คำสั่งยกขอทุเลาฯ ดังกล่าว เป็นมติเสียงข้างมากขององค์คณะ 5 เสียง จากทั้งหมด 7 เสียง โดยเสียงข้างน้อย 2 เสียง คือ นายภานุพันธ์ ชัยรัต รองอธิบดีศาลปกครองกลาง ที่เห็นว่า ศาลสมควรมีคำสั่งทุเลาการยึดอายัดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดี และนายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง และเป็นตุลาการเจ้าของสำนวนที่เห็นควรมีคำสั่งทุเลาการยึดอายัดทรัพย์บางส่วน คือ ห้ามมิให้มีการขายทอดตลาด บ้านและที่ดิน ซอยนวมินทร์ 111 แขวงนวมินทร์ กทม.ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของครอบครัว รวมทั้งบรรดาสิ่งของ เครื่องใช้ภายในบ้าน ไว้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดี
ด้านนายนพดล หลาวทอง ทนายความคดีดังกล่าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดีเรื่องการอายัดทรัพย์สินแล้ว ในทางปฏิบัติเราคงต้องติดตามต่อไปการบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์นั้นทางหน่วยงานรัฐจะปฏิบัติอย่างไร เพราะเท่ากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คือ กรมบังคับคดี มีอำนาจตามคำสั่งที่ได้รับไว้ในมาตรา 44 แต่ทั้งนี้หากพบว่าการบังคับอายัดทรัพย์ดำเนินการจากกรอบคำสั่งและกฎหมายที่ใช้อยู่เกี่ยวกับการบังคับคดีเราต้องใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อสู้โต้แย้งใหม่ โดยขณะนี้ทรัพย์นั้นถูกอายัดไว้ไม่ให้เคลื่อนย้ายถ่ายเท แต่ยังไม่ได้ยึดขายทอดตลาด ซึ่งทรัพย์สินที่เราเคยยื่นคำร้องขอให้ระงับไว้ในครั้งแรกและครั้งที่ 2 คือ บ้านพัก และบัญชีเงินฝากประมาณ 12-13 บัญชี จากนี้เราต้องต่อสู้ในเนื้อหาคดีหลักว่าการออกคำสั่งนั้นไม่ชอบอย่างไร