xs
xsm
sm
md
lg

รายได้เพิ่ม! “อุทยานฯ” เจียด 67.3 ล้าน ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมปี 60 ให้ 683 อบต. เฉพาะ “อบต.เกาะพระทอง” 13 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รายได้เพิ่ม! “กรมอุทยานฯ” เจียด 67.3 ล้าน ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมอุทยานแห่งชาติ ปี 2560 ให้ 683 อบต.ที่อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ เผยได้มากกว่าเดิม ปี 2559 ที่รับจัดสรร 53.9 ล้าน ถึง 14 ล้านบาท พบ อบต.พื้นที่ท่องเที่ยวท็อปฮิต ยังได้ส่วนแบ่งสูงสุด เฉพาะ “อบต.เกาะพระทอง” พื้นที่หมู่เกาะสิมิลัน ศรีพังงา หมู่เกาะสุรินทร์ ได้สูงสุด 13 ล้าน จ.พังงา รับเละ! 22 ล้าน

วันนี้( 23 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ได้เผยแพร่บัญชีการจัดสรรเงินที่จัดเก็บรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ ที่จัดเก็บระหว่างเดือนตุลาคม 2559-มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับการจัดสรรโอนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจัดเก็บจากอุทยานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศ 147 แห่ง ที่มีพื้นที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยกรมฯ ได้โอนเงินจำนวน 67,333,236.94 บาท ให้แก่องค์การปกครองส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 683 อบต.ใน 56 จังหวัด

“ทั้งนี้พบว่า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในคราวเดียวกันที่จัดเก็บระหว่างเดือนตุลาคม 2558-มีนาคม 2559 โดยกรมได้โอนเงินจำนวน 53,998,310.70 บาท ให้แก่ อบต.จำนวน 684 แห่ง ใน 56 จังหวัด”

โดยพบว่า อบต.ที่มีพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ได้รับการจัดสรรเงินรายได้ เช่น อบต.ไสไทย อบต.หนองทะเล อบต.อ่างนาง อ.เมือง จ.กระบี่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาทองป่าไสไทย ป่าอ่าวนาง เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา และหมู่เกาะพีพี ได้รับการจัดสรรแห่งละ 5,225,267.34 บาท สูงกว่าครั้งก่อน ที่ได้จัดสรรแห่งละ 4,504,740 บาท โดยพบว่า อบต.ใน จ.กระบี่ ได้รับจัดสรร รวม 18,795,661.37 บาท จากครั้งก่อนที่ได้จัดสรร 15,235,986.25 บาท

ขณะที่ อบต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติศรีพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้รับการจัดสรรสูงสุด เนื่องจากครั้งก่อนได้รับจัดสรร 8,237,950,78 บาท แต่ครั้งนี้ได้รับจัดสรรถึง 13,110,154.23 บาท ส่วน ในพื้นที่ อบต.เกาะปันหยี และ อบต.ตากแดด อ.เมืองพังงา และ อบต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว พื้นที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ได้รับการจัดสรรแห่งละ 1,507,347 บาท จากปีก่อนที่ได้จัดสรร 1,410,563.75 บาท เช่นเดียวกับ อบต.กระโสม อบต.กะไหล อบต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง พื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ได้รับจัดสรรแห่งละ1,507,347 บาท โดย อบต.ใน จ.พังงา ได้รับจัดสรรรวม 22,672,200.14 บาท มากกว่าครั้งก่อนที่ได้รับจัดสรร 12 ล้านบาทเศษ

นอกจากนี้ อบต.ที่ครั้งนี้ได้รับการจัดสรรเกิน 1 ล้านบาท ยังประกอบด้วย อบต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด พื้นที่เกาะช้าง ในครั้งก่อนได้รับการจัดสรร 964,302.95 บาท แต่ล่าสุดได้รับการจัดสรร จำนวน 1,129,308.50 บาท ,อบต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล พื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และเกาะอาดัง ครั้งก่อนได้รับจัดสรร 816,688.60 บาท ล่าสุดได้รับจัดสรร 1,023,030.32 บาท

สำหรับสถานที่ท้องเที่ยวท็อปฮิต เช่น อบต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้รับการจัดสรร 134,091.28 บาท จากครั้งก่อนได้รับจัดสรร 114,170.44 บาท ส่วน อบต.วังหมี และอบต.วังน้ำเขียว ได้รับการจัดสรร 134,091.76 บาท และ 137,353.28 บาท ตามลำดับ ส่วนพื้นที่ อบต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้รับการจัดสรร 737,944.35 บาท จากครั้งก่อน 684,447.08 บาท พื้นที่ อบต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้รับจัดสรร 511,707.50 บาท จากครั้งก่อน 509,037.23 บาท

ส่วน อบต.กองแขก อบต.ช่างเคิ่ง อบต.แม่นาจน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ได้รับการจัดสรร อบต.ละ 5 แสนบาทเศษ จากครั้งก่อนได้จัดสรร 4.9 แสนบาทเศษ ,อบต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วาง อุทยานแห่งชาติออบขาน ได้รับจัดสรร 531,891.33 บาท จากครั้งก่อน 484,427.15 บาท ขณะที่ อบต.ใน จ.เชียงใหม่ ได้รับการจัดสรร จำนวน 4,017,421.20 บาท จากครั้งก่อนที่ได้รับการจัดสรร 3,747,139.50 บาท ส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับการจัดสรร 311,075.95 บาท จากครั้งก่อนได้รับจัดสรรเพียง 304,408.63 บาท

ทั้งนี้แตกต่างจากพื้นที่ท่องเที่ยวใน จ.นราธิวาส ที่ได้รับจัดสรร 20 อบต.แห่งละ 241.56 บาท หรือใน จ.ยะลา ที่อบต.ส่วนใหญ่รับจัดสรร แห่งละ 524 บาท ใน จ.บุรีรัมย์ รับจัดสรร 3 อบต. (อบต.โนนดินแดง อบต.สายตระกู และอบต.ลำนางรอง) แห่งละ 208.70 บาท หรือ อบต.ในพื้นที่ อ.ทองแสนขัน และ อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ ได้รับจัดสรรแห่งละ 83.81 บาท หรือในพื้นที่ อบต.ชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน และ อบต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา ได้รับจัดสรรแห่งละ 50 บาท อย่างไรก็ตาม อบต.ที่ได้รับจัดสรรน้อยที่สุดกลับเป็น อบต.หมวกเหล็ก และ อบต.หนองยางเสือ จ.สระบุรี ได้รับการจัดสรรแห่งละ 25 บาท เท่านั้น

มีรายงานว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สามารถจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2560 ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 ถึง กันยายน 2560 มีการจัดเก็บได้กว่า 2,413 ล้านบาท ทั้งนี้ หลังได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว บ้านพัก ห้องน้ำ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และอุปกรณ์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ควบคู่กับ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติรอบพื้นที่อุทยานให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ เช่น อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จัดเก็บได้สูงสุดกว่า 428 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จัดเก็บได้กว่า 299 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จัดเก็บได้กว่า 225 ล้านบาท

อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จัดเก็บได้กว่า 75 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จัดเก็บได้กว่า 72 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จัดเก็บได้กว่า 72 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จัดเก็บได้กว่า 56 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติเกาะลันตา จัดเก็บได้กว่า 55 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติเขาสก จัดเก็บได้กว่า 45 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จัดเก็บได้กว่า 27 ล้านบาท อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จัดเก็บได้กว่า 23 ล้านบาท เป็นต้น

มีรายงานว่า เมื่อปีที่ผ่านมา คณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ (PAC) มีข้อสรุปว่า ให้ปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรงบประมาณที่ได้รับจากการจัดเก็บค่าบริการเข้าอุทยานแห่งชาติให้กับท้องถิ่นไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 15 และควรจัดสรรกับจังหวัดโดยตรงเพื่อจังหวัดจะได้พิจารณาจัดสรรให้กับท้องถิ่น แม้ก่อนหน้านั้น คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะเห็นชอบให้มีการปรับสัดส่วนเงินรายได้ที่จัดเก็บได้ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 40 ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น