xs
xsm
sm
md
lg

“ทวีศักดิ์” ยันยืดเวลาเลือกตั้ง แก้ปัญหาพรรคฯ โยนถาม “บิ๊กตู่” หากกระทบความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน (แฟ้มภาพ)
โฆษก กมธ.เลือกตั้ง ส.ส. ร่ายยาวแจงพัลวัน เหตุขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ป.เลือก ส.ส.90 วัน ยันเพื่อช่วยแก้ปัญหาพรรคการเมือง-ยกกฎหมายอื่นก็มีการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย โยนถาม “ประยุทธ์” หากกระทบความเชื่อมั่นนานาชาติ



วันนี้ (22 ม.ค.) นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงเหตุผลของคณะ กมธ.วิสามัญฯในการแก้ไขระยะเวลาของการให้บังคับกฎหมายเมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 2 ว่าเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.อยู่บนเงื่อนไขหนึ่ง กล่าวคือ เวลานั้นกฎหมายพรรคการเมืองยังไม่ได้มีการแก้ไข โดยบทเฉพาะกาลกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้พรรคการเมืองดำเนินการเรื่องธุรการ เช่น การทบทวนบัญชีสมาชิกพรรค จัดการเรื่องทุนประเดิมของพรรคการเมือง การจัดหาสมาชิกพรรคให้ได้ 5000 คนภายใน 1 ปี เป็นต้น แต่เมื่อกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เข้ามาสู่ สนช.แล้ว แต่เมื่อคณะ กมธ.วิสามัญฯ ได้พิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ปรากฏว่าได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ออกมา

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ประกาศ คสช.ฉบับนี้มีผลต่อเรื่องระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจากเดิมที่พรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่พรรคการเมืองต้องเริ่มกระบวนการธุรการทันทีที่หลังจากกฎหมายพรรคการเมืองประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 8 ต.ค. 2560 แต่มีประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ส่งผลให้พรรคการเมืองยังดำเนินการทางการเมืองไม่ได้ แม้ว่ากติกาจะเปิดโอกาสแล้วก็ตาม ประกอบกับเมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 ส่งผลให้พรรคการเมืองจะไปสามารถเริ่มดำเนินการทางการเมืองได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 และสำหรับพรรคการเมืองใหม่จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2561 ถ้านับระยะเวลาจากวันที่ 8 ต.ค. 2560มาถึงวันที่ 1 ม.ย. 2561 จะมีเวลาที่ถูกขยับ 6 เดือน

“ในคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 กำหนดว่าการประชุมใหญ่พรรคการเมืองให้ดำเนินการภายใน 90 วันนับแต่วันที่ยกเลิกประกาศ คสช.ฉบัที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ดังนั้น ระหว่างที่เราพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ได้มีเงื่อนไขใหม่และกำหนดเวลาไว้ชัดเจน จึงเห็นว่าถ้าให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ทันทีจะทำให้ต้องเริ่มนับ 150 วันไปสู่การเลือกตั้งทันที และถ้ายังไม่ได้เปิดกติกาให้พรรคการเมืองได้ดำเนินการ จะเป็นผลเสียต่อพรรคการเมือง สมมติว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.มีผลในวันรุ่งขึ้นหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และผ่านไป 2 เดือนยังไม่ได้ให้พรรคการเมืองประชุมพรรค พรรคการเมืองจะเหลือเวลา 90 วัน ซึ่งคุณสมบัติของผู้สมัครเลือกตั้งจะต้องสังกัดพรรคการเมือง 90 วันจะมีปัญหาเรื่องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทันที ยังไม่นับเรื่องของเวลาในการทำไพรมารีโหวต คณะ กมธ.วิสามัญฯ จึงเห็นต้องมีระยะเวลาช่วงหนึ่ง คือ 90 วัน” นายทวีศีกดิ์กล่าว

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีกฎหมายที่ไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันทีที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษามาก่อนแต่กำหนดระยะเวลาให้มีผลบังคับใช้ภายหลัง เช่น พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดว่าเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น240 วัน เป็นต้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลเคยประกาศใช้พระราชกำหนดเพื่อแก้ไขจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันทีที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปรากฏว่าในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้ แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยืนยันกับคณะรัฐมนตรีแล้วว่าพร้อมดำเนินการทันทีก็ตาม ต่อมาจึงมีการใช้อำนาจมาตรา 44 ขยายเวลาของการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ออกไป

“ถ้ากฎหมายผ่านไปแล้วโดยไม่คำนึงถึงเรื่องเวลา หลายคนบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเรื่องเวลา ถ้ามีปัญหาก็ใช้มาตรา 44 แต่ถ้าพอไปถึงตรงนั้นทั้งเราและ คสช.ก็ถูกตำหนิอีกว่ารู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาทำไมถึงไม่ทำ แต่กลับไปใช้มาตรา 44 ซึ่งถูกวิจารณ์อีกว่าใช้มาตรา 44 พร่ำเพรื่ออีก ดังนั้น ผมคิดว่าการดำเนินการของเราเป็นไปด้วยเหตุผล ไม่ใช่เรื่องไปรับอะไรมา” นายทวีศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่า แม้ในทางกฎหมายจะสามารถแก้ไขเพื่อขยายเวลาได้ แต่อีกด้านก็มีผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยประกาศไว้ว่าจะมีในเดือน พ.ย. นายทวีศักดิ์กล่าวว่า คณะ กมธ.วิสามัญฯ มีเพียงหน้าที่พิจารณากฎหมาย หากไปตอบประเด็นทางการเมืองจะเป็นการเกินอำนาจหน้าที่ของคณะ กมธ.วิสามัญฯ

เมื่อถามว่า การแก้ไขเวลาลักษณะนี้หมายความว่าได้รับไฟเขียวมาจากคสช.แล้วใช่หรือไม่ นายทวีศักดิ์กล่าวว่า คงไปตอบแทนทั้งหมดไม่ได้ แต่เท่าที่ส่วนตัวรับรู้ยืนยันได้ว่าไม่มี

เมื่อถามว่า ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติทำไมไม่เสนอให้คสช.ดำเนินการปลดล็อกทางการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินการกิจกรรมได้ นายทวีศักดิ์กล่าวว่า “อันนั้นต้องไปถามประธาน สนช. ผมแถลงข่าวและตอบคำถามในนามโฆษกรรมาธิการ หน้าที่ของเราคือการพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และนำกลับเข้าสู่สภา ถ้าประเด็นในทางการเมืองต้องไปถามให้มันตรงกับคนที่รับผิดชอบ”

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศต่อนานาชาติแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ แต่การแก้ไขกฎหมายลักษณะนี้จะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศหรือไม่ นายทวีศักดิ์กล่าวว่า “ผมคิดว่าความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่กับหลายฝ่าย ไม่ได้อยู่กับคนใดคนหนึ่ง ท่านก็ไปช่วยถามท่านนายกฯ ด้วย”

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า นอกจากสาระสำคัญมาตรา 2 ที่ กมธ.แก้ไขแล้ว ยังมีสาระสำคัญมาตราอื่นๆ ที่ กมธ.ได้ปรับปรุงแก้ไขจากร่างเดิมของ กรธ. อาทิ มาตรา 15 กรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ให้สามารถจัดการเลือกตั้งภายในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ให้ กกต.ลงคะแนน 2 ใน 3 ของที่มีอยู่ทั้งหมด หรือตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปจากจำนวน7 คน กำหนดให้มีวันเลือกตั้งใหม่ จากเดิมที่ กรธ.เสนอมาให้ใช้เสียง กกต.2 ใน3 เท่านั้น มาตรา 35 การเพิ่มการถูกจำกัดสิทธิแก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจากที่กรธ.เสนอมาว่า ไม่ให้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. การตัดสิทธิการลงสมัคร ส.ส.และสภาท้องถิ่น สิทธิ การตัดสิทธิลงสมัครกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพิ่มเป็นการตัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการ พนักงาน ลูกจ้างสังกัดรัฐสภา การตัดสิทธิการได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง การตัดสิทธิการได้รับการแต่งตั้งรองผู้บริหาร ผู้ช่วยและที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น โดยมีกำหนดการตัดสิทธิเป็นเวลา 2 ปี มาตรา 46 และมาตรา 59 การแก้ไขไม่ให้คืนเงินค่าสมัคร ส.ส.เชตและบัญชีรายชื่อ10,000 บาท แก่ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 5 ของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนน จากเดิมที่ กรธ.เสนอให้คืนเงินค่าสมัครแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองทีได้คะแนนเสียงเกินร้อยละ 5 เพื่อไม่ให้ความยุ่งยากในขั้นตอนธุรการและที่ผ่านมาไม่เคยมีการคืนเงินค่าสมัคร

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า มาตรา 64 การกำหนดค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งของ ส.ส.และพรรคการเมือง ให้ กกต.หารือกับพรรคการเมือง เพื่อกำหนดค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับความจำเป็นและสภาวะเศรษฐกิจทุก 4 ปี โดยกำหนดให้ค่าใช้จ่ายการหาเสียงของพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส.เขตต้องใช้เท่ากันทุกพรรค จากเดิมที่ไม่ได้กำหนด มาตรา 71 การหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ให้ยุติในเวลา 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน เหมือนการหาเสียงด้วยวิธีอื่นๆ จากเดิมที่กำหนดให้ยุติหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนวันเลือกตั้ง 3 วัน มาตรา 74 การกำหนดให้การสำรวจความเห็นประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริตอันมีลักษณะชี้นำต่อการตัดสินใจการลงคะแนนของประชาชน ไม่สามารถกระทำได้ จากเดิมที่เสนอให้การสำรวจความเห็นประชาชนที่มีลักษณะชี้นำไม่สามารถทำได้ เพื่อเพิ่มการคุ้มครองแก่สำนักโพลต่างๆ ให้สามารถทำโพลสำรวจความเห็นประชาชนได้ มาตรา 75 ให้สามารถจัดแสดงมหรสพ งานรื่นเริงระหว่างการหาเสียงได้ จากเดิมที่ห้ามการแสดงมหรสพ งานรื่นเริงระหว่างการหาเสียง มาตรา 77 การห้ามผู้สมัครจัดยานพาหนะขนคนไปลงคะแนนและนำกลับจากสถานที่เลือกตั้ง เพื่อการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า มาตรา 82 ให้ กกต.สนับสนุนการโฆษณาหาเสียงแก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง โดยอาจจัดเวทีประชันนโยบายบริหารประเทศ (ดีเบต) ของพรรคการเมือง จากเดิมที่เสนอให้สนับสนุนการหาเสียงแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว มาตรา 87 การขยายเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งเป็น 07.00-17.00 น. จากเดิมเวลา 08.00-16.00 น. มาตรา 129 การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ กมธ.คงไว้ตามหลักการเดิมที่ กรธ.เสนอมา แต่เพิ่มเติมข้อความให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ให้เกิดการตีความการคิดคะแนนได้หลายวิธี


กำลังโหลดความคิดเห็น