“สมาคมยาสูบฯ - ร้านค้า” เกาะติดราคาบุหรี่ หลังดีเดย์รีดภาษีเข้ากองทุนคนชรา 26 ม.ค. นี้ ห่วงกักตุนสินค้าอีกระลอก แนะรัฐออกมาตรการป้องกันการกักตุนเพื่อเก็งกำไร หวั่นตลาดปั่นป่วน ซ้ำเติมร้านค้าร้านย่อยต้องแบกภาระ
วันนี้ (19 ม.ค.) นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวถึงกรณีที่การจัดเก็บภาษีกองทุนผู้สูงอายุจากสินค้าสุราและยาสูบในอัตรา 2% ของภาษีสรรพสามิต จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 ม.ค. นี้ ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกเริ่มตื่นตัวและเฝ้าระวังสถานการณ์ เพราะมีความกังวลจะมีการปรับขึ้นราคาเหล้าบุหรี่เหมือนเมื่อเดือน ก.ย. 2560 เช่นเดียวกับสมาคมฯ ที่ได้ติดตามความคืบหน้ามาตรการภาษีต่างๆ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสินค้ายาสูบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดทางร้านค้าสมาชิกของสมาคมฯ ซึ่งมีอยู่ราวกว่า 1,000 ราย ได้เริ่มสอบทางกันมาแล้วว่าจะมีการปรับขึ้นราคาบุหรี่อีกหรือไม่
“จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เมื่อ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ร้านค้าฯ บริหารจัดการสต็อคกันอย่างลำบาก เนื่องจากราคาบุหรี่แต่ละเจ้าต่างปรับราคากันหลายระลอกในช่วงแรก แต่ตอนนี้สภาพตลาดค่อนข้างกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว สำหรับภาษีบาปทีจะจัดเก็บเข้ากองทุนคนชราฯ ร้านค้าก็จับตาว่าจะส่งผลกระทบอะไรกับราคาบุหรี่อีกรอบหรือไม่ เพราะต้องการวางแผนเรื่องสินค้าในร้านต่อไป”
ผู้สื่อข่าวถามถึงสถานการณ์ตลาดบุหรี่ทั่วไปในขณะนี้ นางวราภรณ์ กล่าวว่า แม้ตลาดจะเริ่มนิ่งหลังเข้าสู่เดือนที่ 3 หลังการขึ้นภาษีสรรพสามิต แต่ก็ยังมีความอ่อนไหว ท่ามกลางข่าวต่างๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตบุหรี่ไทยที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐหามาตรการช่วยเหลือ เพราะได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีทำให้ยอดขายลดลงนั้น ผู้ค้าก็จับตาเฝ้าระวังมาตรการใดๆ ที่จะมากระทบกับราคาขายปลีกอีกระลอก โดยเฉพาะหากบุหรี่มีภาระภาษีเพิ่มขึ้น บริษัทบุหรี่ย่อมผลักภาระต่อมาที่ราคาขายปลีกอยู่แล้ว บรรดาข่าวต่างๆ เรื่องภาษีบุหรี่ที่ออกมาอย่างต่อเนื่องนั้นก็อาจทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันไปต่างๆ นานาว่าจะปรับราคาขึ้นหรือลงอีกหรือไม่ เกรงว่าจะเกิดการเก็งกำไรและกักตุนสินค้ากันอีกแม้ว่าภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่มากนัก
“ไม่อยากให้การออกมาตรการใหม่ๆ มาแก้ปัญหาภาษีบุหรี่ ไม่อยากให้กลายมาเป็นสร้างภาระให้ร้านค้าคนหาเช้ากินค่ำ ร้านค้าเล็กๆ ส่วนใหญ่ขายบุหรี่ได้เพียงวันละ 5 - 10 ซอง ถ้าตลาดต้องเจอความผันผวนอีกระลอก นอกจากจะขายของกันลำบากแล้วยังเปิดโอกาสให้มีการกักตุนหรือเก็งกำไรกันอีกด้วย" นางวราภรณ์ กล่าว.