xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” ชี้กำหนดบังคับใช้ กม.เลือกตั้ง ส.ส.90 วันหลังลงราชกิจจาฯ สามารถทำได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กรธ.ปัดให้ความเห็น กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย 90 วันหลังลงราชกิจจาฯ ย้ำสามารถทำได้ ปัดให้ความเห็น แต่ กมธ.ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้

วันนี้ (18 ม.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวถึงกระแสข่าวที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายหลังจาก 90 วันนับแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาว่า ยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพราะคณะกรรมาธิการยังไม่ได้สรุปเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องของอนาคต แต่ตามหลักการปกติแล้ว การกำหนดวันบังคับใช้ ร่างกฎหมายสามารถทำได้ ซึ่งเคยมีการกำหนด ระยะเวลายาวถึง 1 ปี จึงบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงกฎหมายเฉพาะบางอย่างก็ให้ออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อกำหนดระยะเวลาบังคับใช้และพื้นที่ที่จะบังคับใช้ได้ในภายหลัง

ส่วนที่สมาชิก สนช.ดำเนินการตามที่ส่งหนังสือแนะนำ โดยเข้าชื่อรวมกัน 31 รายชื่อ เพื่อให้ประธาน สนช.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับการต่ออายุคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัยบอกว่า เป็นเรื่องดี เพราะจะได้ไม่มีปัญหาค้างคา แต่ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงความเหมาะสมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่มีลักษณะต้องห้าม โดยระบุเพียงสั้นๆ ว่ารอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน

ส่วนที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. และนายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช.เข้าหารือวันนี้ นายมีชัยเปิดเผยว่า เป็นการหารือเกี่ยวกับการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่าสมควรจะมีกลไกอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดการฮั้วหรือบล็อกโหวตกัน ซึ่งนายสมชายก็เสนอว่า การแบ่งกลุ่มที่มา ส.ว.ควรทำมาจาก 2 ทาง คือจากชาวบ้านทั่วไป และจากองค์กรส่งตัวแทนมา ซึ่งก็ได้ตั้งคำถามต่อไปว่าวิธีการนี้จะป้องกันการฮั้วหรือบล็อกโหวตได้หรือไม่ อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ด้วยว่า ให้ทุกคนมีสิทธิ์สมัครได้ แล้วเข้าไปเลือกกันเอง แต่หากส่งตัวแทนจากองค์กร อาจไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ จึงฝากให้ไปคิดเรื่องนี้ และคิดว่าแนวทางนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่านั้น จะตัดสินใจในชั้นนี้อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการ






กำลังโหลดความคิดเห็น