ศาลฎีกาพิพากษายืน คำสั่ง “สุกำพล สุวรรณทัต” ปลด “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ออกจากราชการทหาร เป็นคำสั่งมิชอบ ชี้จำเลยไม่ได้เป็นนายทหารประจำการแล้ว ซ้ำสั่งปลดย้อนหลังถึง 23 ปี ส่อไม่สุจริต ละเมิดสิทธิโจทก์ ให้เพิกถอนคำสั่ง
วันนี้ (16 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ส่งข้อความผ่านไลน์ว่า “วันนี้ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ผมฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งที่ปลดผมออกจากราชการ โดยศาลฎีกาได้ยืนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเนื่องจากเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบครับ”
ด้านนายบัณฑิต ศิริพันธ์ ในฐานะทนายความเจ้าของคดีเปิดเผยว่า คดีนี้เป็นกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกฯ ฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม และแกนนำพรรคเพื่อไทย ออกคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ออกจากราชการทหารย้อนหลังถึง 23 ปี โดยนายอภิสิทธิ์ได้ต่อสู้คดีนี้มาถึง 3 ศาล สรุปคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีแพ่ง ในคดีนี้ได้ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม จำเลย ผลคำพิพากษาศาลฎีกาให้เพิกถอนคำสั่งของ พล.อ.อ.สุกำพล เพราะเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ส่อไปในทางไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยข้อเท็จจริงในคดีนี้ จำเลยออกคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการในขณะที่โจทก์มิได้อยู่ในราชการ แต่เป็นนายทหารนอกประจำการ โจทก์เองไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบทางวินัย หรือถูกสั่งพักราชการหรือเป็นกรณีที่โจทก์หนีราชการที่จำเลยจะใช้อำนาจสั่งปลดโจทก์ให้มีผลย้อนหลังถึง 23 ปี เมื่อได้ความว่า คำสั่งการปลดโจทก์ในขณะที่โจทก์มิได้รับราชการแล้ว จำเลยจึงไม่มีอำนาจสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยทหาร พุทธศักราช 2476 มาตรา 7 ทั้งไม่อาจแปลความให้เป็นผลร้ายแก่โจทก์ได้ การที่จำเลยออกคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2531 ซึ่งโจทก์พ้นจากราชการมาก่อนแล้วถึง 23 ปีเศษ ก็ส่อไปในทางไม่สุจริต ถือเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้ โดยคดีนี้มีตนและนายไพบูลย์ โพธิ์น้อย เป็นทนายความรับผิดชอบคดี