xs
xsm
sm
md
lg

รัฐถกบูรณาการทุ่มงบพัฒนาภาคใต้ 5 ปี 1.6 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ (แฟ้มภาพ)
“ฉัตรชัย” ถกแผนบูรณาการงบฯพัฒนาภาคใต้ ปรับสอดรับแผนสภาพัฒน์ เน้นท่องเที่ยว-การเกษตร-ประมง-น้ำ ก่อนชงเสนอนายกฯ พิจารณา 25 ม.ค.นี้เผยงบปี 62 จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท และเตรียมจัดงบ 5 ปี 1.6 แสนล้านบาท

วันนี้ (15 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ครั้งที่ 1/2561 โดยมีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคใต้เข้าร่วม เช่น ตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ร่วมประชุมด้วย

โดย พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวก่อนการประชุมว่า วันนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวคิดในการแบ่งการทำงานออกเป็นรายเป็นภาค จากเดิมที่มีเพียงจังหวัดและกลุ่มจังหวัด กำหนดให้มีคณะกรรมการบูรณาการนโยบายภาคขึ้นนั้น เนื่องจากการลงพื้นที่ของนายกฯ และมีการเสนอแผนงานจำนวนมาก แต่ไม่มีความเชื่อมโยง จึงต้องมีการประชุมเพื่อจัดทำแผนงานเสนอการประชุมใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 25 ม.ค.นี้

หลังการประชุม พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ในฐานะที่รับผิดชอบภาคใต้ทั้งหมด จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคใต้มาคุย โดยในปี 2561 มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณใหม่ทั้งหมด 10 แผนงานโครงการ วงเงินประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมให้เปลี่ยนแปลงงบฯ ได้เพื่อให้สามารถเดินหน้าโครงการได้ต่อไป และการประชุมวันนี้เพื่อพิจารณาจัดเตรียมงบประมาณปี 62 จำนวน 35,000 ล้านบาท และการจัดทำงบประมาณ 5 ปี ในระหว่างปี 60-64 จำนวน 160,000 ล้านบาทนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

โดยปี 2562 เป็นการรวบรวมข้อมูลกระทรวง ทบวง กรม ที่จะพัฒนาภาคใต้ แล้วเสนอความต้องการของงบประมาณไว้และกลั่นกรองอีกครั้งหนึ่งในการประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 ม.ค.เพื่อปรับแผนงานให้สอดรับกับการพัฒนาภาคใต้ ทั้งนี้เมื่อมีการปรับตัวเลขงบประมาณที่ชัดเจนแล้ว จะมีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ทั้งนี้การพัฒนาจะเน้นในเรื่อง 1. การท่องเที่ยว 2. การเกษตร 3. การประมง 4. ทรัพยากรน้ำ

เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ภาคใต้ พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า การแก้ความยากจนจะเน้นการเกษตร เพราะไม่อยากเห็นการพัฒนาภาคใต้แค่รื่องการท่องเที่ยวและสาธารณูปโภคเท่านั้น แต่อยากเห็นการพัฒนาเพื่อลงไปสู่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่รวมอยู่ในภาคการเกษตรด้วย ส่วนโมเดลการแก้จนยังไม่มีการกำหนด เพราะอยากมองการพัฒนาเป็นภาพรวมทั้งภาคมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น