xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ขีดเส้น 2 เดือน เร่ง “โซนนิ่งแรงงานต่างด้าว” รับอีอีซี - “บีโอไอ” เจ้าภาพผุดอาคารที่พักต่างด้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” ขีดเส้น 2 เดือน โครงการ “โซนนิ่งแรงงานต่างด้าว” รับอีอีซีต้องชัด “บีโอไอ” เจ้าภาพ ร่วม มท.-รง. เร่งแผนก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยใน 11 จังหวัดนำร่อง ระบุหากติดข้อกฎหมายให้ปรึกษา “รองฯวิษณุ” หลังต้นปี 60 แนวคิดถูกกระแสสังคมต้าน รัฐบาลถอยตั้งหลัก เหตุ มท.เสนอใช้พื้นที่ป่าชายเลนเป็นการเฉพาะ หวังผุดอาคารชุดใน จ.ระนอง ให้เป็นที่อยู่อาศัยของต่างด้าว

วันนี้ (15 ม.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี (9 ม.ค. 61) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดหาพื้นที่ เพื่อก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยสำหรับแรงงานต่างด้าวบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยในการส่งเสริมการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยดังกล่าว ให้มีการจัดระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ให้เหมาะสมครบถ้วน รวมทั้งให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่โดยรอบด้วย”

ทั้งนี้ ในการดำเนินการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น หากมีประเด็นปัญหาเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ให้บีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 60 นายกฯ สั่งการเบื้องต้นให้บีโอไอร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน หาทางออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้แก่ภาคเอกชนในการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยสำหรับแรงงานต่างด้าวบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการอีอีซี ให้เป็นไปตามนโยบายการจัดโซนนิ่งพื้นที่พักอาศัยเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ต่างๆ ให้ชัดเจน และสามารถดูแลได้อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าว ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งออกมาตรการออกมารองรับ โดยเฉพาะบีโอไอ ซึ่งมีเครื่องมือทางด้านการส่งเสริมการลงทุน ทั้งมาตรการที่เป็นภาษี และไม่ใช่ภาษี ซึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับเอกชนได้มีการก่อสร้างที่พักอาศัยของคนต่างด้าวขึ้น

“นายกฯ ย้ำด้วยว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ และให้เป็นไปตามมติของที่ประชุม ครม.ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ยังให้คำถึงประเด็นในด้านความมั่นคงด้วย”

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เนื่องจากหลังจากมีการจ้างงานและเข้าสู่ระบบการดูแลด้านแรงงาน และสาธารณสุข ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับแรงงานแบบเช้ามาเย็นกลับและตามฤดูกาล แรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ทั้งเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการต่างๆ รวมทั้งที่พักสำหรับแรงงานตามฤดูกาลเช่นเดียวกับแรงงานไทย ซึ่งการจัดการแรงงานในลักษณะนี้เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยได้ เนื่องจากการเดินทางเข้ามาทำงานทั้ง 2 ประเภทนั้น จะต้องมีการลงทะเบียนทำให้หน่วยงานต่างๆ รับทราบข้อมูลทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียน”

“มีการนำร่องที่จังหวัดสมุทรสาครและระนอง โดยใช้บ้านเอื้ออาทรจังหวัดสมุทรสาคร ตำบลทาจีน อำเภอเมือง ที่มีห้องว่าง เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ใช้จัดโซนนิ่งให้แรงงานต่างด้าวเข้าพักอาศัย โดยให้สถานประกอบการเช่าให้แรงงานเข้ามาพักให้เต็ม ส่วนแรงงานที่เหลือการเคหะพร้อมเร่งปรับปรุงบ้านเอื้ออาทรที่เลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ มีทั้งหมด 18 อาคารที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จให้แล้วเสร็จ เพื่อรองรับแรงงานได้อีก 3000 คน หลังจากที่จัดโซนนิ่งเรียบร้อยแล้ว จะมีทีมสาธารณสุขอาสาสมัครประจำครอบครัวต่างด้าว หรือหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เข้าพื้นที่ให้บริการด้านสาธารณสุข ทั้งติดตามโรค รวมถึงให้ความรู้เรื่องวัคซีน และมีการประเมินพัฒนาการเด็กด้วย”

มีรายงานด้วยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2560 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบตามที่ กรมการจัดหางาน (กกจ.) รับเป็นเจ้าภาพจัดทำแนวทางจัดระเบียบที่อยู่อาศัยและคุ้มครองแรงงานต่างด้าว มอบหมายให้ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ไปศึกษาเรื่องการดูแลที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าวในลักษณะการจัดโซนนิ่งให้ถูกสุขลักษณะและได้มาตรฐาน ทั้งในเรื่องกฎหมาย การลงทุน และความร่วมมือการก่อสร้างโดยพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวหนาแน่นเกินกว่า 50,000 คน ใน 11 จังหวัดนำร่อง คือ จ.ชลบุรี จ.นครราชสีมา จ.สมุทรสงคราม จ.ปทุมธานี จ.สุราษฎร์ธานี จ.เชียงใหม่ จ.สงขลา จ.สมุทรปราการ จ.นนทบุรี จ.ระยอง และ จ.ตาก ทั้งนี้อาจจะต้องมีการศึกษารูปแบบของการเคหะแห่งชาติด้วยเนื่องจากที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้วใน จ.สมุทรสาคร และ จ.ระนอง

ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ 13 จังหวัด โดยขอใช้พื้นที่ป่าชายเลนเป็นการเฉพาะเพื่อสร้างอาคารชุดใน จ.ระนอง ให้เป็นที่อยู่อาศัยของต่างด้าว

กรณีนี้ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธทันที หลังมีกระแสคัดค้านใช้พื้นที่ป่าชายเลน โดยระบุว่ายังเป็นเพียงแนวคิด ไม่ใช่ข้อยุติเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมที่ดิน จะต้องหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นายจ้าง ลูกจ้าง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สมเหตุสมผล


กำลังโหลดความคิดเห็น