นายทะเบียนพรรคฯ กำหนด 9 ก.พ.แจงกลุ่มตั้งพรรคใหม่ เผยมีแจ้งความประสงค์เข้าร่วมแล้ว 10 กลุ่มการเมือง “จรุงวิทย์” รับไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง เคลื่อนตาม กม.ยาก ชี้พรรคทำไพรมารีโหวตทันหรือไม่ขึ้นอยู่กับความพร้อม ปูดมีเวลาจริงแค่ 19 วัน
วันนี้ (10 ม.ค.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง กล่าวว่า กกต.เตรียมที่จะจัดชี้แจงให้กับกลุ่มบุคคลที่สนใจจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายใหม่ โดยจะจัดการประชุมชี้แจงในวันที่ 9 ก.พ.นี้ ซึ่งกลุ่มบุคคลที่สนใจสามารถลงทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือโทรศัพท์ 0-2141-8478 โทรสารหมายเลข 0-2143-8584 และส่งผ่านอีเมล ppd.ect2017@gmail.com โดยให้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมรับฟังได้ไม่เกิน 3 คนต่อกลุ่มการจัดตั้งพรรค เริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 26 มกราคม 2561 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ยื่นความจำนงค์ขอร่วมเข้าร่วมรับฟังแล้ว 10 กลุ่ม รวม 26 คน ซึ่งในวันดังกล่าวทาง กกต.จะได้จัดเตรียมในเรื่องของคู่มือ แบบฟอร์มต่างๆ ไว้ให้กับกลุ่มการเมืองเพื่อที่เมื่อถึงวันที่ 1 มี.ค. ที่คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 กำหนดให้กลุ่มการเมืองที่จะประสงค์จะจัดตั้งพรรคได้ยื่นคำขอจดจัดตั้งพรรคต่อ กกต.ได้เลย
ทั้งนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยังกล่าวถึงแนวปฏิบัติของพรรคการเมืองตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ว่าในส่วนของพรรคการเมืองเก่า สมาชิกพรรคการเมืองต้องยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคต่อหัวหน้าพรรคในวันที่ 1-30 เม.ย. โดยตามคำสั่ง คสช.ดังกล่าวกำหนดให้ยื่นกับหัวหน้าพรรค ไม่ใช่ยื่นกับกรรมการบริหารพรรคที่ต้องขออนุญาต คสช.เพื่อเรียกประชุม ดังนั้น หัวหน้าพรรคจึงสามารถแจ้งปรับปรุงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้เลยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ
ส่วนกลุ่มการเมืองที่จะจัดตั้งพรรคใหม่แม้จะยื่นเรื่องต่อนายทะเบียนแล้วในวันที่ 1 มี.ค. แต่การจัดประชุมกรรมการบริหารพรรคยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องรอให้มีการปลดล็อกพรรคการเมืองก่อน ทั้งนี้เห็นว่าการดำเนินการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองจะสมบูรณ์ได้ต่อเมื่อสามารถจัดประชุมได้ คือ ต้องปลดล็อคพรรคการเมืองก่อน แต่ก็ขึ้นกับ คสช.ที่ก็ต้องพิจารณาในเรื่องของปัญหาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย กกต.คงไม่สามารถไปก้าวก่ายการพิจารณาของ คสช.ได้
ด้านนายสมพล พรผล ผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีพรรคการเมืองมีความเป็นห่วงว่าการปลดล็อกล่าช้าจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดทำไพรมารีโหวตว่า ตามเนื้อหาในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ สนช.กำลังพิจารณาอยู่นั้น ได้กำหนดว่า หลัง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.บังคับใช้ ต้องมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งภายใน 90 วัน จากนั้น กกต.ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ประกาศจำนวน ส.ส. ประกาศเขตเลือกตั้งภายใน 5 วัน ที่สำคัญคือต้องประกาศ ซึ่งกฎหมายระบุว่าต้องประกาศวันรับสมัครภายใน 20 วัน นับแต่มีพระราชกฤษฎีกา เท่ากับพรรคการเมืองเหลือเวลาที่จะดำเนินกระบวนการจัดทำไพรมารีโหวตประมาณ 19 วันเท่านั้น แม้ในพื้นที่ขณะนี้พรรคการเมืองจะทราบว่าการแบ่งเขตจะเป็นอย่างไร แต่ก็ต้องรอกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ และรอการประกาศเขตเลือกตั้งก่อน จึงจะดำเนินการได้ ดังนั้นพรรคการเมืองจะทำไพรมารีโหวตทันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมือง