xs
xsm
sm
md
lg

หมากบังคับ"ประยุทธ์" ต้องดิ้นรนไปต่อ-ลงหลังเสือไม่ได้!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุเทพ เทือกสุบรรณ , พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา , พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา

ภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไปพบกับกลุ่มการเมืองตระกูล"สะสมทรัพย์" ในจังหวัดนครปฐม หลุดออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว มันสามารถอธิบายได้หลายเรื่องราวทางการเมือง รวมไปถึงเป็นการ "ต่อจิ๊กซอว์" ตัวสุดท้าย จนทำให้เห็นภาพใหญ่ในอนาคตวันข้างหน้าได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีความพยายามอธิบายว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ"เพื่อนรัก"ของเขา คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี รวมไปถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ที่ไปพบกับก๊วนการเมืองกลุ่มนี้ว่า เป็นการไปตีกอล์ฟและเจอกันโดยบังเอิญเท่านั้น หากคิดจะให้คนเชื่อแบบนั้น ก็ถือว่าดูถูกสติปัญญากันเกินไปหน่อย

เพราะหลังจากนั้นผ่านไปไม่กี่วัน ในช่วงต้นปีใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศ"เป็นนักการเมือง" เต็มตัว และแม้จะไม่ยอมยืนยันว่าพร้อมเป็น"นายกฯคนนอก แต่ก็พูดทางอ้อมว่า "ไม่ตัดทางตัวเอง" มันก็ถือว่าชัดยิ่งกว่าชัดเสียอีก อีกทั้งยืนยันจะทำตัวใหม่ "ยิ้มมากขึ้น" ความหมายก็คือ จะสร้างบุคลิกใหม่ในทางการเมือง เหมือนกับภาพที่เคยเห็นพวกนักการเมืองทั่วไปที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากปรากฏการณ์และความเคลื่อนไหวดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ และคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ก็เหมือนกับการที่เขาอยู่ในช่วง"ไฟท์บังคับ" ในแบบที่ว่าเวลาก็กระชั้นชิดเข้ามาเรื่อยๆ เหมือนกัน

หากนับเวลาตามโรดแมป (เดิม) ก็จะเหลือเวลาให้กับรัฐบาลนี้อีกเพียง 1 ปี เท่านั้น ถือว่าสั้นมาก ประกอบกับช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 3 ปี ทั้งในแบบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในแบบของรัฐบาลที่ต้องบอกว่า จะด้วยพฤติกรรมและผลงานก็ต้องพูดกันแบบตรงไปตรงมาว่าทำให้ "เสื่อมศรัทธา" ลงไปมาก จากภารกิจหลัก เช่น ในเรื่องการปฏิรูปไม่ได้เป็นตามที่ชาวบ้านคาดหวัง ประกอบกับมีปัญหาในเรื่องราคาสินค้าเกษตรตัวหลักๆ ตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะอ้างว่าเป็นเพราะปัจจัยภายนอก จากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่ตราบใดที่เงินในกระเป๋าของชาวบ้านไม่เพิ่มขึ้น ยังชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ต้องสรุปว่า ยัง "ล้มเหลว"

อีกทั้งที่ผ่านมาความเสื่อมศรัทธาที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญก็ไม่มีอะไรซับซ้อนล้วนมาจากบรรดา "พวกพ้องน้องพี่" และเครือข่ายอำนาจที่มีเรื่องอื้อฉาวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคงไม่ต้องยกตัวอย่างว่ามีใครบ้าง แต่เพื่อเห็นภาพชัดเจนที่กำลังถูกสังคมวิจารณ์หนักข้อขึ้นทุกวันก็คือกรณีของ "พี่ใหญ่" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในภาพลักษณ์ "สีเทา" ค่อนไปทาง "สีดำ" มันก็ถือว่าเป็นตัวฉุดที่สำคัญสร้างความเสื่อมศรัทธาได้อย่างรวดเร็ว

หากพิจารณากันในภาพรวมๆ เวลานี้จะมีใครให้เครดิตสักกี่คน ว่ารัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นรัฐบาลที่ปราบปรามคอร์รัปชัน เป็นผู้นำในการปฏิรูปอย่างรอบด้านเป็นที่คาดหวังได้ ไม่เล่นพรรคเล่นพวก เป็นต้น ในช่วง 1-2 ปีแรก อาจจะมีความเชื่อแบบนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบสี่ปี มันก็เกิดการเปรียบเทียบให้เห็นว่า ในที่สุดแล้วมันก็ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลก่อนมากนัก

**เหมือนกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพิ่งประกาศเป็นนักการเมือง ทั้งที่ก่อนหน้านี้แสดงท่าทางรังเกียจนักการเมืองในทำนองว่า สร้างแต่ปัญหาเอาไว้ให้เขาต้องเข้ามาแก้ไข แต่อย่างไรก็ดี คำประกาศดังกล่าวหากพิจารณาให้ลงลึกไปอีก ก็สามารถเข้าใจได้ เนื่องจากมีที่มาที่ไป โดยมีเป้าหมายข้างหน้าที่สำคัญก็คือ "ต้องการกลับมาเป็นนายกฯอีกรอบ" นั่นเอง และก่อนหน้านี้ก็ได้สร้างกลไกต่างๆ รองรับไว้แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นกลไกทางรัฐธรรมนูญ ที่เปิดทางในบทเฉพาะกาลรองรับ นายกฯคนนอก การตั้งพรรคทหาร(พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนผู้นำคสช.) กลไกการเลือกตั้งที่ทำให้ไม่มีพรรคการเมือลใดได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด กลไกกฎหมายลูก เช่น กฎหมายพรรคการเมืองที่ดูเหมือนกับมีการบอนไซพรรคใหญ่ ควบคู่กันไปด้วย

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแทบทุกกลไกดังกล่าวมีความคืบหน้าและเดินไปตามแผน แต่ถึงอย่างไรมันก็มีสิ่งที่ผิดพลาดหรือไม่เป็นไปตามคาดหมาย นั่นคือ "การยึดบางพรรค" ไม่สำเร็จ ซึ่งนี่คือเรื่องใหญ่ แม้ว่ากรณีดังกล่าวอาจจะอธิบายให้เห็นภาพที่ชัดเจนยาก และหลายคนอาจยังมองไม่ออก แต่หากพิจารณาจากจุดเชื่อมโยง มันก็พอจะเข้าเค้าได้บ้าง เมื่อมีการพูดถึง "กำนัน" สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่สังคมรับรู้กันมานานว่ามีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ "พี่ใหญ่" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อีกทั้งก่อนหน้านี้ ก็เคยประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ต่อไป

เพียงแค่อาจยังไม่เห็นภาพ แต่หากย้อนกลับไปพิจารณาความเคลื่อนไหวบางอย่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน ทั้งในเรื่องการออกโรงเองของ "นายหัวชวน" ชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เร่งแก้ปัญหาความยากจน โดยเปรียบเทียบตัวเลขให้เห็นว่า 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน คนไทยยิ่งจนลง การโจมตีตอบโต้แบบเข้มข้นของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค พร้อมๆ กับการการที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ยื่นหนังสือเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง จนนำมาสู่การรับลูกของรัฐบาล ในเรื่องของการมีข้อกำหนดการยืนยันตัวตนของสมาชิกพรรคภายใน 30 วัน ซึ่งถูกมองว่า นี่คือการ "เซตซีโรแฝง" บอนไซพรรคการเมืองใหญ่ ขณะเดียวกันเอื้อประโยชน์กับพรรคตั้งใหม่อย่างพรรคทหาร เป็นต้น

ดังนั้น หากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวแบบนี้ "วงใน" ย่อมมองออกทันทีว่าการ "ยึดพรรคประชาธิปัตย์" ของกำนันล้มเหลว จึงมีแนวโน้มออกมาตั้งพรรคใหม่ ขณะเดียวกัน เมื่อหันมามองทางฝั่งพรรคเพื่อไทยบ้าง แม้ว่าก่อนหน้านี้เคยมีความเคลื่อนไหวเรื่องของหัวหน้าพรรคคนใหม่อย่าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เพื่อปิดดีลเชื่อมโยงในสายพี่ใหญ่ง่ายขึ้น แต่ในที่สุด ระยะหลังค่อยๆ เงียบไป และล่าสุดค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะจะมีปัญหากับมวลชน ผู้สนับสนุนพรรคโดยเฉพาะคนเสื้อแดง และเมื่อสำรวจความนิยมในพื้นที่ก็ต้องบอกว่ายังเหนียวแน่นพอสมควร นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องเดินสายต้อนกลุ่มการเมืองในจังหวัดใหญ่ ดังที่เห็นมาแล้วที่ สุพรรณบุรี สุโขทัย และ กลุ่มสะสมทรัพย์ ที่นครปฐม

อย่างไรก็ดี หากให้สรุปนาทีนี้หลังจากที่ถูก "ขาใหญ่"ในพรรคประชาธิปัตย์ ยืนขวางเต็มประตูทำให้ "กำนัน" กลับมายึดพรรคไม่สำเร็จ ทำให้อนาคต "นายกฯคนนอก" ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลำบากขึ้น เราจึงได้เห็นความเคลื่อนไหวในทางลึก ในแบบมองเห็นว่า "พล่าน" กันเลยทีเดียว เพราะในสนามเลือกตั้ง แม้ว่าสำหรับพรรคประชาธิปัตย์อาจกระทบไม่น้อยหาก สุเทพ เทือกสุบรรณ ยกพลพรรค กปปส. ออกไปตั้งพรรคใหม่ เพราะมีฐานเสียงเดียวกัน แต่ในทางตัวเลข ส.ส. ที่สนับสนุนนายกฯคนนอก ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภา หรือราว 500 เสียง แม้ว่าจะมี ส.ว.แต่งตั้งตุนเอาไว้แล้ว 250 เสียง แต่ที่เหลืออีก 250 เสียง มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นช่วง "กองหนุนหดหาย" แบบนี้ มันก็ยิ่งลำบาก

นาทีนี้ การประกาศเป็นนักการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพร้อม "ไปต่อ" มันก็เหมือนกับภาวะดิ้นรนเป็น "ไฟต์บังคับ" ต้อง "ขี่หลังเสือ" ต่อไป จะลงก็ไม่ได้ เพราะมีสารพัดโจทก์เรียงหน้ารอรุมขย้ำกันเต็มทุ่งหญ้า ดังนั้นอย่าได้แปลกใจ หากมีความพยายามยื้อเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุด เหมือนกับคำใบ้ที่เคยพูดเอาไว้ก็คือ "ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับกฎหมายลูกว่าจะเสร็จเมื่อใด" และตอนนี้ ก็เริ่มจากการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองเป็นอันดับแรกก่อน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น