xs
xsm
sm
md
lg

ปัดฝุ่น แก้ปัญหารุก “เขตโบราณสถาน-มรดกโลก” ทั่วประเทศ เน้น ปชช.อยู่ร่วมกันแทนขับไล่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปัดฝุ่น แก้ปัญหาชาวบ้านบุกรุก “เขตพื้นที่โบราณสถาน - มรดกโลก” ทั่วประเทศ “บิ๊กตู่” แนะให้ใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันแทนการขับไล่ ย้ำไม่ขัดกฎหมาย - สอดคล้องมาตรฐานสากล มอบ มท.-วัฒนธรรม - ทส.- คลัง กำหนดแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ ตามประกาศห้ามราษฎรครอบครอง เน้นประชาชนอยู่ในพื้นที่ - ใช้ประโยชน์ ก่อนมีประกาศห้ามฯ

วันนี้ (3 ม.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการนายกคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2560 โดยให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ที่ได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ราษฎรไม่สามารถครอบครองได้ เช่น เขตพื้นที่สาธารณประโยชน์ เขตพื้นที่โบราณสถาน เขตพื้นที่มรดกโลก เป็นต้น

“เพื่อให้ประชาชนที่เข้าครอบครอง หรือทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ดังกล่าวอยู่ก่อนการประกาศฯ สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในบริเวณเขตพื้นที่ดังกล่าวได้ โดยไม่ขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับหลักการตามมาตรฐานสากล รวมทั้งพิจารณากำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาประชาชนที่บุกรุกในเขตพื้นที่ดังกล่าวด้วย”

มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาระหว่างเดินทางมาร่วมประชุม ครม. สัญจร ที่ จ.สุโขทัย โดยเฉพาะแนวทางการบุกรุกพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ หลังพบการเข้าไปครอบครองพื้นที่ทำกินในเขตอุทยาน ในอดีต โดยพบว่า บางพื้นที่แต่เดิมเป็นสถานที่เขตพุทธาวาส มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ แต่มีการเข้าไปตัดต้นไม้ ถางป่า และล้อมรั้วลวดหนามเพื่อแบ่งเขตครอบครองพื้นที่เป็นของตนเอง ปลูกไร่อ้อย และมันสำปะหลัง ที่สำคัญ ได้มีการลงเสาไฟฟ้าเข้าไปยังที่พักอาศัยของชาวบ้าน

โดยในอดีตที่ผ่านมา หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหารือ อาทิ กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อหามาตรการป้องกันการบุกรุกเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ขณะที่ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด ประสานงานและตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของการอนุรักษ์พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นมรดกโลกของไทย แทนการขับล่ออกจากพื้นที่

มีรายงานด้วยว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำแนวเขตที่ดินโบราณสถาน ในอีกหลายจังหวัด โดยบางแห่งไปกระทบกับพื้นที่ประชาชนเข้าไปครอบครองหรือทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ดังกล่าวอยู่ก่อนมีการประกาศพื้นที่ที่ราษฎรไม่สามารถครอบครองได้ เช่น เขตพื้นที่สาธารณประโยชน์ เขตพื้นที่โบราณสถาน เขตพื้นที่มรดกโลก

ที่ผ่านมา กรมศิลปากร พบว่า ปัญหาการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และโบราณสถานมีมาอย่างต่อเนื่องโดยส่วนใหญ่พบว่าชาวบ้านเข้าไปตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่โดยรอบเขตโบราณสถานหลายพื้นที่ อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์เชียงแสน จ.เชียงราย โบราณสถานพระราชวังจันทน์ จ.พิษณุโลก อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย (ปราสาทหินพิมาย) เป็นต้น ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าจะกระทบต่อการขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก

มีรายงานอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายกฯ ได้รับทราบแผนแม่บทการแก้ปัญหาการพัฒนาเมืองรุกล้ำโบราณสถาน ที่มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 - 10 ปี โดยมีแผนการดำเนินงาน 8 เรื่องหลัก เช่น การใช้ที่ดินและกฎหมาย แผนอนุรักษ์โบราณสถาน แผนพัฒนาและปรับปรุงชุมชนที่รุกล้ำพื้นที่อุทยานฯ และเพิ่มมาตรการลดผลกระทบภัยพิบัติ ฯลฯ โดยคณะกรรมการมรดกโลกด้านวัฒนธรรม ได้รับทราบแล้วเมื่อปลายปี 2560 .


กำลังโหลดความคิดเห็น