xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ชำแหละ “ยโสธร-อุตรดิตถ์” พบ “หมู่บ้านละ 2 แสน” ผู้รับเหมา 145 โครงการ ได้ประโยชน์ค่า F - “ตำบล 5 ล้าน” จ่อเชือด 10 โครงการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดรายงาน สตง. ชำแหละ 2 โครงการรัฐ พื้นที่ “ยโสธร - อุตรดิตถ์” พบโครงการยกระดับหมู่บ้านละ 2 แสน พื้นที่ “จ.ยโสธร” วงเงิน 177 ล้าน พบ “จ่ายค่า F” จ้างเหมาผู้รับจ้าง 145 โครงการ ได้ประโยชน์มากกว่าชาวบ้าน โยน “คณะกรรมการหมู่บ้าน” ขาดความรู้ เหตุเป็นโครงการแรกของรัฐ ส่วน “ตำบล 5 ล้านบาท จ.อุตรดิตถ์” จากพันโครงการ งบ 334 ล้าน จ่อถูกเชือด 10 โครงการ

วันนี้ (1 ม.ค.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สตง. เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบหน่วยงานระดับจังหวัด ในการดำเนินงานโครงการของรัฐบาล ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ใน 2 โครงการ 2 จังหวัด ประกอบด้วย รายงานผลการตรวจสอบการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ จ.ยโสธร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) จ.อุตรดิตถ์ สำนักงานอุตรดิตถ์ กระทรวงมหาดไทย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน ในพื้นที่ จ.ยโสธร 156 หมู่บ้าน 196 โครงการ เป็นเงิน 31,168,212 บาท พบหมู่บ้าน ที่เสนอโครงการด้านเศรษฐกิจเพียง 51 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 5.06 ของโครงการทั้งหมด จากโครงการที่ตรวจสอบ 196 โครงการ ยังไม่สามารถดำเนินงานโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้ โดยโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อหวังให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นในฤดูแล้ง

“มีเพียง 2 โครงการจาก 28 โครงการด้านเศรษฐกิจ ที่ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น อีก 26 โครงการ ไม่มีผลทำให้รายได้ของประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการกลุ่มข้าวกล้องงอกปลอดสารพิษ หมู่ที่ 12 ต.คูเมือง อ.มหาชนะชัย เนื่องจากกลุ่มยังไม่มีความพร้อมในการผลิต เป็นต้น”

รายงานของ สตง. ยังระบุว่า “โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคพื้นเมืองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” ม.9 ต.ลุมพุก อ.คำเขื่อนแก้ว เป็นเพียงโครงการเดียวเท่านั้น ที่รายได้ของกลุ่มเพิ่มอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วน “โครงการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร” ม.4 ต.หนองคู อ.เมืองยโสธร ที่ประสบความสำเร็จ โดยเพิ่มรายได้เฉพาะบุคคลเท่านั้น ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านเสียโอกาสที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น

“ปัญหาของการตรวจสอบครั้งนี้ พบว่า ไม่มีหมู่บ้านใดเลือกดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม”

จ่ายเป็นค่า Factor F ให้แก่ผู้รับจ้างจำนวนมาก ไม่กระจายไปเป็นค่าจ้างแรงงาน

นอกจากนี้ ยังพบว่า ร้อยละ 91.17 หรือจำนวน 919 โครงการ มีการจ้างงานชาวบ้านในพื้นที่มากกว่าการใช้ทุน หรือเครื่องจักร หรือหมู่บ้านเลือกดำเนินการเอง แทนการจ้างผู้รับเหมา เป็นการจ้างแรงงานระหว่าง 1 - 10 คน/โครงการ แต่ปัญหาที่ตามมา คือ “ค่าเสียโอกาสในการจ้างงานที่ต้องจ่ายเป็นค่า Factor F ให้แก่ผู้รับจ้างจำนวนมาก” ที่ไม่กระจายไปเป็นค่าจ้างแรงงาน ซึ่งจากตัวเลข ที่พบว่า มีการจ้างเหมาผู้รับจ้าง 145 โครงการ มีต้นทุนค่า Factor F ถึง 3,723,192.48 บาท ซึ่งตกเป็นรายได้ของผู้รับจ้างเพียงผู้เดียวโดยไม่เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในหมู่บ้าน ซึ่งต่างกับอีก 93 หมู่บ้าน มีการจ้างแรงงาน ชาวบ้านได้ค่าจ้างถึงมือ 2,144,899 บาท ยังพบว่า ลักษณะจัดซื้อวัสดุหรือครุภัณฑ์ทั้งโครงการโดยไม่มีการจ้างแรงงาน 11 หมู่บ้าน 11 โครงการ เป็นเงิน 2.20 ล้านบาท ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านเสียโอกาสที่ได้รับรายได้ในส่วนที่ควรจะเป็นค่าจ้างแรงงาน

สตง. สรุปว่ากรณีนี้ “คณะกรรมการหมู่บ้าน” ที่รับผิดชอบ ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วัตถุประสงค์ของโครงการและบทบาทหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย เนื่องจากเป็นโครงการแรกตามนโยบายประชารัฐที่คณะกรรมการหมู่บ้านต้องดำเนินการเองทุกขั้นตอน แถมระยะเวลาเกินศักยภาพของพื้นที่

“กระทรวงมหาดไทย ควรทบทวนการดำเนินการโครงการลักษณะการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้ชัดเจน ควรให้มีการชี้แจงวัตถุประสงค์โครงการ หลักเกณฑ์แนวทาง ข้อจำกัดของโครงการให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และคณะกรรมการระดับต่างๆ เพื่อป้องกันการคัดเลือกและอนุมัติโครงการที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของโครงการหรือที่รัฐบาล”

สตง. ยังเสนอให้มหาดไทย กำหนดบทลงโทษ กรณีที่หมู่บ้านหรือผู้ปฏิบัติไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ เพื่อให้การ ใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร สั่งการให้นายอำเภอ ดำเนินการให้กลุ่มข้าวกล้องงอกปลอดสารพิษ หมู่ที่ 12 ต.คูเมือง อ.มหาชนะชัย ที่ยังไม่มีการดำเนินการให้นำเงินทุนหมุนเวียน 50,000 บาท ส่งคืนแก่ทางราชการทันที

สำหรับโครงการดังกล่าวคณะรัฐมนตรี กำหนดให้มหาดไทย ให้จ่ายจากเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 200,000 บาท จำนวน 74,588 หมู่บ้าน เป็นเงิน 14,917.60 ล้านบาท เฉพาะ จ.ยโสธร ได้รับจัดสรร 885 หมู่บ้าน 1,008 โครงการ เป็นเงิน 177 ล้านบาท

ตำบลละ 5 ล้านบาท “อุตรดิตถ์” 1,129 โครงการ 334 ล้าน จ่อเชือด 10 โครงการ

มีรายงานว่า สำหรับรายงานอีกฉบับ เป็นผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) จ.อุตรดิตถ์ สำนักงานอุตรดิตถ์ กระทรวงมหาดไทย จำนวน 9 อำเภอ ได้รับการอนุมัติ 1,129 โครงการ งบประมาณ 334.20 ล้านบาท

จากการสุ่มตัวอย่าง พบว่า แม้จะดำเนินการแล้วเสร็จ 9 อำเภอ 43 โครงการ แต่ใน 7 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 77.78 ของอำเภอทั้งหมด มีผลการดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับจัดสรร รวมทั้งไม่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพ ไม่ก่อให้เกิด การจ้างงานและไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน จำนวน 10 โครงการ เป็นเงินเบิกจ่าย 3,555,000 บาท

“ตัวอย่าง 1. โครงการอบรมให้ความรู้ การเลี้ยงปลากระดี่ในกระชังบก เบิกจ่าย 127,000 บาท และโครงการดำเนินการฝึกอบรมและแจกพันธุ์ปลากระดี่และกระชังบก พบ ลูกปลากระดี่ส่วนใหญ่ตาย ส่วนกระชังบก ไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์โครงการ”

ตามรายงาน ระบุว่า 6 โครงการ ที่เบิกจ่าย 1,887,600 บาท ได้แก่ 1. โครงการปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้าน บ้านแหลมทอง หมู่ที่ 2 ต.ข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ จำนวนเงินเบิกจ่าย 85,000 บาท 2. โครงการส่งเสริมอาชีพทางเลือกใหม่ทางด้านการเกษตร บ้านนาลับแลง หมู่ที่ 5 ต.ปุคาย อ.เภอทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ จำนวนเงินเบิกจ่าย 500,000 บาท 3. โครงการเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร บ้านคลองละมุง หมู่ที่ 4 ต.ไร่อ้อย อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ จำนวนเงินเบิกจ่าย 467,000 บาท 4. โครงการต่อเติมอาคารกะเทาะเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ บ้านกิ่วเคียน หมู่ที่ 12 ต.จริม อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ จำนวนเงินเบิกจ่าย 361,600 บาท 5. โครงการต่อเติมโรงน้ำดื่มชุมชน บ้านห้วยหูด หมู่ที่ 3 ต.แสนตอ อ.น้ าปาด จ.อุตรดิตถ์ จำนวนเงินเบิกจ่าย 139,000 บาท และ 6. โครงการปรับปรุงต่อเติมศูนย์ส่งเสริมอาชีพกลุ่มทอผ้า บ้านท่าโพธิ์ หมู่ที่ 1 ต.เด่นเหล็ก อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ จำนวนเงินเบิกจ่าย 335,000 บาท

“แม้จะดำเนินการเสร็จสิ้น แต่ขาดการวางแผนเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที เช่น ขาดการเชื่อมต่อสิ่งสาธารณูปโภค หรือไม่มีการเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูก ทำให้ไม่สามารถ ใช้ประโยชน์ได้ หรือใช้ประโยชน์ได้เพียงบางส่วน”

นอกจากนี้ สตง. พบ 3 โครงการ จำนวนเงินเบิกจ่าย 1,540,400.00 บาท แม้จะดำเนินการเสร็จสิ้น แต่ไม่มีการใช้ประโยชน์ ได้แก่ 1. โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สุสานหอย บ้านนาไร่เดียว หมู่ที่ 5 ต.สองห้อง อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ จำนวนเงินเบิกจ่าย 359,000 บาท 2. โครงการปรับปรุงต่อเติมอาคารศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน บ้านน้ำลัด หมู่ที่ 5 ต.ม่วงเจ็ดต้น อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ จำนวนเงินเบิกจ่าย 499,400 บาท และ 3. โครงการปรับปรุงศูนย์จัดจำหน่ายสินค้ามะขามหวานและการเกษตร บ้านสุมข้าม หมู่ที่ 4 ต.นาขุม อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์ จำนวนเงินเบิกจ่าย 682,000 บาท

“แม้จะแล้วเสร็จ แต่โครงการไม่มีการใช้ประโยชน์ ใช้ประโยชน์บางส่วน หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการ จะส่งผลกระทบทำให้งบประมาณสูญเปล่า 127,000 บาท จากโครงการอบรมให้ความรู้ การเลี้ยงปลากระดี่ในกระชังบกเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน เนื่องจากปลากระดี่ส่วนใหญ่ตาย และเกษตรกรไม่ได้ใช้ประโยชน์จากกระชังบกที่ได้รับแจก หรือใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการ”.


กำลังโหลดความคิดเห็น