xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้อง! คดี สน.นางเลิ้ง ฟ้อง “ปานเทพ” ฐานความผิดไม่ขออนุญาตชุมนุมคัดค้าน กม.ปิโตรเลียมหน้าทำเนียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ศาลแขวงดุสิต ชี้ ไม่เข้าข่ายกระทำความผิดทั้งเนื้อหาที่ปราศรัย พฤติการณ์การชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายนำรั้วมากั้นเอง อีกทั้งได้มีผู้ยื่นขอการชุมนุมสาธารณะตามขั้นตอนแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

วันนี้ (28 ธ.ค. 2560) เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิต ได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2772/2560 กรณีที่ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแพ่ง 3 เป็นโจทก์ฟ้อง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลย โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 เวลา 18.00 น. จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะและมาปราศรัยที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.... และ พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมโดยไม่ได้ขออนุญาต ล่วงหน้าต่อสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งภายใน 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม

ทั้งนี้ ขอให้ศาลลงโทษเพราะเป็นการกระทำความผิดตาม มาตรา 10, 28 แห่ง พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และขอให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 607/2558 (คดีชุมนุมสนามบิน 2551, อยู่ระหว่างการต่อสู้ในศาลอาญา) และหมายเลขดำที่ 1133/2560 ของศาลแขวงดุสิต (คดีการชุมนุมทวงคืนสิทธิ์พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2554 ศาลแขวงดุสิตยกฟ้องไปแล้ว อยู่ระหว่างรอคำพิพาษาศาลอุทธรณ์) จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์สรุปสาระสำคัญพิพากษา 4 ประเด็นดังนี้

1. เมื่อพิจารณาภาพเคลื่อนไหวจากแผ่นดีวีดี และแผ่นซีดีที่อยู่ในชุดคำให้การของจำเลย อันเป็นเหตุการณ์ ขณะจำเลยใช้เครื่องกระจายเสียงแบบพกพาติดตัว หรือโทรโข่งของเจ้าพนักงานตำรวจพูดกับกลุ่มผู้ชุมนุมถึงการเสียประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนจากกฎหมายดังกล่าว และให้ผู้ชุมนุมเห็นใจและให้เกียรติเจ้าพนักงานตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามปกติ มิได้มีพฤติการณ์ที่ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมพูดจาเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมสาธารณะแต่อย่างใด

2. จุดมุ่งหมายของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาร่วมชุมนุมก็เพื่อต้องการยื่นหนังสือคัดค้านพระราชบัญญัติปิโตรเลียมแก่นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล (กพร.) ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่ของสถานีตำรวจนครบาลดุสิต

โดยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชุมนุมในที่เกิดเหตุปรากฏว่าก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจได้นำแผงเหล็กมาปิดกั้นถนนพิษณุโลกบริเวณสี่แยกพาณิชย์พระนคร ถึงแยกมิสกวัน และการปิดกั้นดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้ชุมนุม ไม่สามารถเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลได้

3. กลุ่มผู้ชุมนุมมิได้ประสงค์จะชุมนุมสาธารณะในที่เกิดเหตุ แต่เป็นเพราะเจ้าพนักงานตำรวจปิดกั้นถนนและควบคุม พันโท แพทย์หญิง กมลพรรณ ชีวพรรณศรี ไป ผู้ชุมนุมจึงเกิดความไม่พอใจการกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อันจะต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

4. จำเลยได้นำสืบยืนยันว่า ก่อนเกิดเหตุ นายหาญยิ่ง รัตนทุมมาพร ได้มอบให้ นายธนา นาคบุญนำ ไป ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต และ สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อประสงค์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่รัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลแล้ว แต่เจ้าพนักงานสถานีตำรวจนครบาลดุสิต อ้างว่า การชุมนุมดังกล่าวเข้าลักษณะชุมนุมทางการเมืองให้ไปยื่นหนังสือขออนุญาตต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่วนเจ้าพนักงานสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง อ้างว่า พื้นที่ชุมนุมไม่ได้อยู่ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง นายหาญยิ่ง ที่มอบให้ นายธนา ไปยื่นหนังสือขออนุญาตต่อหัวหน้า คสช. ผ่านแม่ทัพภาคที่ 1 ก็เจือสมกับพยานโจทก์ที่น่าเชื่อถือ

พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง






อ่านเพิ่มเติม :
คปพ.ถูกขวางไม่ให้ไปทำเนียบ พร้อมจับกุม “กมลพรรณ” หนึ่งในแกนนำ
ชี้ชะตา! พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ใครกันแน่พิทักษ์ผลประโยชน์ชาติ!
คปพ.รวมตัวหน้าสภาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เรียกร้องตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น