xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าย กม.มท.ชี้ช่อง กรมที่ดิน ปมถูกต้าน “ร่าง กม.โอนที่ดินอัลไพน์” จ่อ “ล้างผิดผู้ต้องหา” เพิกถอนคำสั่งมิชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฝ่ายกฎหมาย มหาดไทย ยกข้อกฎหมาย ความเห็นกฤษฎีกา พ่วงคำสั่งสำนักนายกฯ ชี้ช่องให้ “กรมที่ดิน” เสนอ “รองวิษณุ” แก้ปม “ร่างกฎหมายแก้ปัญหาโอนที่ดินอัลไพน์” โอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร จากปัญหาข้อกฎหมายเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง หลังถูกกล่าวหา เตรียม “ล้างผิดผู้ต้องหา” คดีเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง อธิบดีกรมที่ดินโดยมิชอบ เผยร่างกฎหมายถูกแขวนชั้นเสนอ สนช.

วันนี้ (28 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทวงมหาดไทย ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ที่มี นายสวัสดิ์ ส่งสัมพันธ์ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานแทนนายประยูร รัตนเสนีย์ รอปลัด มท. ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านความมั่นคง ได้ร่วมพิจารณา “วาระจร” หาแนวทางการแก้ไขปัญหาการดำเนินการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง (ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร) เพื่อเป็นข้อมูลให้กรมที่ดิน ใช้ในการหารือกับคณะกรรมการยกร่างกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเดือนมกราคม 2561

ขณะที่ ฝ่ายคัดค้าน เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ที่กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เตรียมเสนอ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิขอบกลาง พิพากษาว่า มีความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยมีผลกระทบกับคำสั่งของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

ต่อมา กรมที่ดิน ได้ขอหารือต่อคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย คณะที่ 1 เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการตามคำสั่งของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อคำสั่งในสมัยที่ นายยงยุทธ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่สั่งไว้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2545 ที่ได้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดิน แล้วให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดี กรมที่ดิน ที่ 2308/2545 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2545 โดยขอหารือดังนี้

ข้อหารือที่ 1. กรมที่ดิน จะไม่ดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินในทันที่โดยเหตุผล ดังต่อไปนี้ได้หรือไม่ 1.1 ต้องรอจนกว่าศาลสูงจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจากหากศาลสูงมีคำพิพากษา กลับคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมีขอบกลาง จะเป็นเหตุให้ไม่ต้องเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดิน และ 1.2 การที่รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน สั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายยงยุทธ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวง มหาดไทย ที่สั่งไว้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 และยกอุทธรณ์ของเจ้าของที่ดินเป็นเรื่องที่ไม่ใช่การดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แต่เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงต้องรอศาลสูงมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ข้อหารือที่ 2 การแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์กรมที่ดินจะต้องแจ้งผู้อุทธรณ์คำสั่งเพิกถอน รายการจดทะเบียนที่ดินตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 จำนวน 294 รายหรือแจ้งผู้อุทธรณ์คำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2545 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 จำนวน 294 ราย รวมทั้งผู้รับโอนที่ดินไนลำดับต่อมา จนถึงผู้ถือกรรมสิทธิ์ คนปัจจุบัน พร้อมแจ้งลิทธิในการฟ้องคดีตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ด้วยหรือไม่

มีรายงานว่า คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ คณะที่ 1 มีความเห็นให้กรมที่ดิน รับความเห็นไปพิจารณา หลังจากได้รับฟังข้อเท็จจริงจากคำชี้แจงของผู้แทนกรมที่ดินแล้ว ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า เจตนารมณ์การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมีขอบตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมีขอบ พ.ศ. 2559 เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมในคดีทุจริต และประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาว่า นายยงยุทธ มีความผิดตามมาตรา 147 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นเรื่องของคดีอาญา ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับกรณีที่นายยงยุทธ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้มีส่วนได้เสีย จำนวน 294 ราย โดยมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 13 มีนาคม 2545 ให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 กระทำในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ตามมาตรา 44 มาตรา 46 มาตรา 40 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประกอบ กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ข้อ 2 (4) และได้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์และสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบแล้ว

“เมื่อไม่มีผู้มีส่วนได้เสียคนใดได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองประกอบกับ ในปัจจุบันไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจในการทบทวนคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ. 2539 ในกรณีที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองต้องคำพิพากษาคดีอาญาในมูลเหตุจากการออกคำสั่งนั้น ซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ดังนั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายยงยุทธ จึงมีผลบังคับตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539”

ประเด็นที่สอง เห็นว่า กรณีตามประเด็นนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประขุมใหญ่) ได้ให้ความเห็นไว้ใน เรื่องกรณีวัดธรรมิการรามวรวิหาร ได้มาซึ่งที่ดินมรดกตามพินัยกรรม ตามเรื่องเสร็จที่ 73/2544

สรุปได้ว่า “...เมื่อวัดธรรมิการามวรวิหาร ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทันทีที่นางเนื่อม ถึงแก่กรรม และมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไม่ใช่บทบัญญัติยกเว้นการได้มาดังกล่าว เมื่อผล ทางกฎหมายที่ดินมรดกของนางเนื่อม ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด แล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ ตามมาตรา 33 (2) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2504

ซึ่งการโอนที่ธรณีสงฆ์ ต้องทำโดยพระราชบัญญัติตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2504 และตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับ ที่ นร 0601/608 ลงวันที่ 1 เมษายน 2544 เรื่อง การแก้ปัญหาที่ธรณีสงฆ์ ของวัดธรรมิการามวรวิหาร เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในข้อ 6 ของหนังสือดังกล่าว ว่า “แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้ยุติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงเห็นว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย กล่าวคือ การโอนที่ดินนั้นได้ก็ต้องดำเนินการ ตราพระราชบัญญัติโอนที่ธรณีสงฆ์ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ดังที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เคยให้ความเห็นไว้แล้ว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อปัญหาการครอบครองที่ธรณีสงฆ์ ยังมิได้รับการแก้ไข กรมการศาสนา ในฐานะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ.2504 ย่อมต้องมีหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ยุติโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป โดยควรต้องเสนอร่างกฎหมายโอนที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าว หากวัดธรรมิการามวรวิหาร แจ้งความประสงค์จะขายที่ดินนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในสภาพกฎหมายของที่ดินผืนนี้ต่อไป...

“เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอขา) ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 362/2558 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ แผ่นดิน พ.ศ. 2534 แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมายโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร โดยมีอำนาจหน้าที่ประการหนึ่ง กล่าวคือ การพิจารณายกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร ให้เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องและความเห็น ของคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมทั้งเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อดำเนินการเสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติต่อไป

คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ จึงเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้โดยการดำเนินการตราพระราชบัญญัติโอนที่ธรณีสงฆ์ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 352/2558 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 และเป็นไปแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับ ที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เมษายน 2545 เรื่อง การแก้ปัญหาที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าว ควรคำนึงถึงหลักสุจริตของบุคคลภายนอกผู้รับโอนด้วย

มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานร่างกฎหมาย ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ได้เห็นชอบในหลักการร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการโอนกรรมสิทธิในที่ธรณีสงฆ์ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย คือ การโอนมรดก ระหว่างมูลนิธิมหามงกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อม กับมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยฯ ในฐานะส่วนตน ตามคำสั่งศาลแพ่ง ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2533 โดยให้ มิผลตั้งแต่ 21 สิงหาคม 2533 อันเป็นกฎหมายที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

คณะทำงานจัดทำร่างกฎหมายฯ ยังได้จัดส่งร่างกฎหมายรวมถึงคำชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการตรา กฎหมาย และบันทึกวิเคราะห์สรุปประกอบร่างกฎหมายให้สำนักงานพระพุทธศาลนาแห่งชาติทราบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2559 และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้นำร่างกฎหมายพร้อมเหตุผล ความจำเป็นในการตรากฎหมายและบันทึกวิเคราะห์สรุปประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศขึ้นเว็บไซต์ของหน่วยงานและของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อรับฟ้งความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560

“แต่เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาลงโทษ นายยงยุทธ ดังกล่าว ส่งผลให้ร่างกฎหมายที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ประกาศขึ้นเว็บไซต์ เพื่อรับฟ้งความคิดเห็น ถูกกระแสต่อต้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ว่าเป็นการออกกฎหมายล้างผิดหรือ นิรโทษกรรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวสะดุดหยุดอยู่”

สำหรับ ที่ธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร มีมูลนิธิ มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้รับโอน และรายการจดทะเบียนขายรวม 2 โฉนด ระหว่าง มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กับบริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ผู้ซื้อ

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาความอาญา คดีหมายเลขดำที่ อท. 38/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อท. 282/2560 พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย) จำเลย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เมื่อครั้งเป็นรองปลัดมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดมหาดไทยเมื่อปี 2544 กรณีการจดทะเบียนโอนมรดกและโอนสิทธิขายที่ดินสนามกอล์ฟ อัลไพน์ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมิชอบ

“กรณีเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งถือว่ามีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง”.



กำลังโหลดความคิดเห็น