xs
xsm
sm
md
lg

ใบสั่งต่ออายุ 7 ป.ป.ช.ไม่สนคุณสมบัติขัด รธน.อยู่ยาวอีก 9 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ (ภาพจากแฟ้ม)
กมธ.ป.ป.ช. สาย “บิ๊กป้อม” ดันจนได้ ต่ออายุให้ 7 ป.ป.ช. อยู่ยาวอีก 9 ปี ไม่สนแม้คุณสมบัติจะขัดรัฐธรรมนูญปี 60 บอกผู้มีอำนาจอยากให้อยู่ต่อ แถมหมกเม็ด เพิ่มอำนาจให้ตัวเอง ดักฟังข้อมูลส่วนบุคคลได้ด้วย เตรียมนำเข้าวิป สนช. วันนี้ ก่อนเสนอพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 21 ธ.ค.

แหล่งข่าวจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช) ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า การประชุมวานนี้ (18 ธ.ค.) ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็นประธาน ได้พิจารณากฎหมายฉบับนี้แล้วเสร็จในช่วงค่ำ และจะนำเข้าวิป สนช. ในวันนี้ (19 ธ.ค.) ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช. วันที่ 21 ธ.ค. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระ 2 และวาระ 3

ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องการต่ออายุคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันให้ดำรงตำแหน่งต่อหรือไม่นั้น ที่ประชุมได้อภิปรายกันมาก โดยยกข้อดี ข้อเสีย แต่ก็ไม่ได้ข้อสรุป จนต้องลงมติกันตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดย กมธ. เสียงข้างมาก ที่ประกอบไปด้วย อดีตนายตำรวจ และ อดีตนายทหาร ที่มีความสนิมสนมและใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้โหวตให้แก้ไขหลักการเดิมจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอให้รีเซต ป.ป.ช. ที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญปี 60 โดย กมธ. ในส่วนของ กรธ. ได้โหวตสู้ แต่ก็แพ้ราบคาบ ทำให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน จำนวน 7 คน จาก 9 คน ที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามรัฐธรรมนูญได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีกเป็นเวลา 9 ปี นับตั้งแต่วันที่ ป.ป.ช. แต่ละคนได้รับการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542

“เหตุผลที่ 7 ป.ป.ช. ได้อยู่ต่อ เพราะเป็นความต้องการของผู้มีอำนาจอยากจะให้อยู่ต่อ” แหล่งข่าวระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 7 รายชื่อกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีคุณสมบัติหมิ่นเหม่ต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ปี 60 ได้แก่ 1. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เมื่อปี 2557 พ้นจากการดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 10 ปี 2. นายปรีชา เลิศกมลมาศ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2552 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2553 และรับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี 3. พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เคยดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2553 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2555 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี 4. นายณรงค์ รัฐอมฤต อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2553 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2555 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี

5. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีต ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเมื่อปี 2552 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2557 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี 6. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในปี 2557 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2558 พ้นจากการดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 10 ปี และ 7. พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีต ผอ.สำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2554 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า กมธ. ในสัดส่วนของ ป.ป.ช. ยังได้เสนอเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูล นักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรสาร โทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารอิเลกทรอนิกส์ทั้งหมด ซึ่งในส่วนของ กมธ. ในสัดส่วนของ กรธ. พยายามคัดค้านไว้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน จนท้ายที่สุด ที่ประชุมต้องโหวตตัดสิน ผลปรากฏว่า ฝ่าย กรธ. แพ้เช่นเคย แต่ก็ได้สงวนคำแปรญัตติไว้เพื่อไปต่อสู้ วาระ 2 ในที่ประชุม สนช. วันที่ 21 ธ.ค. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น