xs
xsm
sm
md
lg

กนย.เพิ่มแรงจูงใจเจ้าของสวนยาง โค่นต้นเก่า-ปลูกใหม่ชดเชยทันที ดันใช้ในภาครัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ (แฟ้มภาพ)
กนย. ไฟเขียวแก้ปัญหายางตก เพิ่มแรงจูงใจ เจ้าของสวนยาง โค่นต้นเก่า - ปลูกต้นใหม่ชดเชยทันที รายละ 4 พันบาท ดันใช้ยางในภาครัฐเริ่ม ม.ค.- ก.ย. ปีหน้า

วันนี้ (15 ธ.ค.) เวลา 15.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบ 3 มาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมเห็นชอบเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ โดยเฉพาะส่วนราชการที่มีความต้องการใช้ยาง 180,000 ตัน ซึ่งเกือบเป็นไปตามเป้าหมาย ที่จะสามารถดูดซับปริมาณยางในตลาดออกได้ โดยจะต้องกำหนดไว้ว่าการประกวดราคาผู้ที่ประมูลรับจ้างก่อสร้างถนนต้องซื้อยาง ที่ผสมจากน้ำยางสดที่จัดจำหน่ายโดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อป้องกันการนำยางเก่ามาขาย และส่วนราชการจะต้องใช้ให้เสร็จภายใน 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2561 โดยแต่ละกระทรวงจะใช้เงินที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งมีหลายหมื่นล้านบาท แต่ไม่ใช่เป็น เงินที่มาซื้อยางพาราอย่างเดียว แต่รวมไปถึงค่าหิน ค่าทราย ส่วนวงเงินที่ใช้ซื้อยางพารานั้นจะอยู่ที่ 3- 20 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินดังกล่าว

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบช่วยเหลือช่วยเหลือผู้ประกอบผลิตยาง โดยรัฐบาลจะช่วยเหลือดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ให้ผู้ประกอบการที่เข้าไปรับซื้อยางแห้ง ภายใต้สินเชื่อก้อนใหม่ 20,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงินที่รัฐต้องชดเชยดอกเบี้ย 600 ล้านบาท มีเป้าหมายดูดซับยางแห้งออกจากตลาด 100,000 ตัน หรือเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของยางแห้งทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการที่รับซื้อยางแห้งกลุ่มนี้ถือเป็นนักธุรกิจระดับกลางมีความต้องการใช้ยาง 500,000 - 600,000 ตันต่อปี อย่างไรก็ตาม ยังเห็นชอบแนวทางลดการกรีดยางและลดพื้นที่การปลูกยาง โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะชดเชยในอัตรารายละ 4,000 บาท จากเดิมที่ได้รับอยู่แล้วรายละ 16,000 บาทต่อไร่ รวมแล้วจะใช้เงินอีก 80 ล้านบาท โดยนำเงินจากกองทุนพัฒนายางของการยางแห่งประเทศไทยจ่ายให้ สำหรับเจ้าของส่วนยาง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้โค่นต้นยางเก่า แล้วปลูกต้นใหม่ทดแทน และยางที่ปลูกอยู่ในสถานที่ราชการ เช่น องค์การป่าไม้ หรือกรมวิชาการ เป็นต้น จะหยุดกรีดยางเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.- มี.ค. 2561

“ทั้ง 3 มาตรการเป็นมาตรการเฉพาะหน้าจะทำให้ปริมาณยางลดลง และจะทำให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้น ส่วนมาตรการอื่นๆ เช่น การลดพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด การปรับเปลี่ยนอาชีพเป็นสิ่งสำคัญ ให้เกษตรกรมีความยั่งยืนในเรื่องรายได้ อยู่ในมาตรการระยะกลาง และระยะยาวจะมีการดำเนินการต่อไป ยืนยันว่า ครั้งนี้รัฐบาลมีความจริงใจ จริงจังในการใช้ 3 มาตรการแก้ปัญหา ก็จะทำให้ราคายางดีขึ้น” นายกฤษฎา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น