xs
xsm
sm
md
lg

“กฤษฎา” สร้างไลน์กลุ่ม ขรก.เกษตรทั่วประเทศ ประเดิมสั่งอธิบดีกรมพัฒน์ทำข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็ก ชูธนาคารน้ำใต้ดินสร้างทางเลือก นโยบายลดพื้นที่ปลูกยาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฤษฎา บุญราช” สร้างไลน์กลุ่ม ขรก.เกษตรทั่วประเทศ ประเดิมสั่งอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ เน้นบ่อ-สระแยกรายจังหวัด-ภาค ระบุหนุนข้อสั่งการนายกฯ ลดพื้นที่ปลูกยางพารา ชูเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชชนิดอื่นแซมยางพารา ขอ ขรก.ทั่วประเทศ เสนอทางเลือกจัดหาแหล่งน้ำในสวนยางหรือพื้นที่ใกล้เคียงส่งกระทรวงฯ พร้อมยกโมเดล “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ให้ 2 อธิบดีหารือ “รมช.วิวัฒน์” ช่วยเกษตรกร เตรียมจัดสรรงบเป็นของขวัญให้เกษตรกรกลุ่มเข้มแข็ง

วันนี้ (11 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า หลังจากเข้าทำงานในกระทรวงได้ประมาณ 1 สัปดาห์ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มีการสั่งให้มีการแอดแอปพลิเคชันไลน์กับผู้บริหาระดับสูงของกระทรวง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงระดับจังหวัดทั่วประเทศ เช่นเดียวกับที่เคยดำเนินการในสมัยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยให้มีการสั่งการผ่านแอปพลิเคชันไลน์ในเรื่องทีไม่ลับมาก

โดยล่าสุดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฤษฎาได้เขียนผ่านไลน์กระทรวงว่า ถึงเพื่อนข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าในช่วงวันหยุดนี้ขอมีส่วนร่วมในการคิดแนวทางการทำงานเพื่อดูแลช่วยเหลือเกษตรกรไทยของเรา

ในช่วงนี้นอกจากสินค้าผลผลิตทางการเกษตรที่กำลังเป็นที่สนใจของคนทั่วประเทศ เช่น ยางพารา ข้าว พืชเกษตรและผลไม้ต่างๆ แล้ว สิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของการเกษตรบ้านเราคือ การจัดหาหรือพัฒนาแหล่งน้ำหรือการหาน้ำให้มีประจำพื้นที่แก่เกษตรกร คนไทยเราผูกพัน กับแหล่งน้ำมาโดยตลอด จนมีคำกล่าวที่ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว จึงขอให้ท่านอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้พิจารณารวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็กเช่น บ่อหรือสระที่กรมฯได้ไปดำเนินการไว้ในพื้นที่ต่างๆ ว่า ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยของ ปชช.มากน้อยเพียงใด ที่ไหนบ้างโดยแยกเป็นรายจังหวัดหรือรายภาคคร่าวๆ ก็ได้ เพื่อให้เห็นภาพว่าพื้นที่ใดมีแหล่งน้ำเพียงพอแล้วหรือไม่อย่างไร

ขณะนี้ กษ.และ กยท.มีนโยบายให้ชาวสวนยางลดพื้นที่ปลูกยางหรือปลูกพืชอื่น ๆ แซมสวนยางหรือปรับเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นๆ ซึ่งเป็นนโยบายที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไว้แล้วผมเห็นว่า ถ้าในพื้นที่สวนยางหรือใกล้เคียงนั้น หากไม่มีแหล่งน้ำแล้ว ชาวสวนก็ไม่ทราบจะไปปลูกพืชอะไรหรือทำอะไรที่ดีกว่าปลูกยาง แต่ถ้าเราสามารถหาแหล่งน้ำหรือหาทางพัฒนาพื้นที่ให้มีแหล่งน้ำไว้ด้วยก็จะทำให้เกษตรกรมีทางออกหรือทางเลือกในการทำการเกษตรที่ผสมผสาน หลากหลายได้มากขึ้นกว่าเดิม และจะช่วยให้นโยบายลดพื้นที่ปลูกยางพาราประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วตามสภาพของพื้นที่และเทคโนโลยีที่เอื้ออำนวย เพราะจะเป็นการช่วยถ่ายทอดตัวอย่างที่ดีและสร้างความมั่นใจให้พี่น้องเกษตรกรของเรา

ถ้าพวกเราท่านใดที่มีความรู้หรือเชี่ยวชาญการพัฒนาจัดหาแหล่งน้ำในสวนยางหรือพื้นที่ใกล้เคียงได้ก็ขอให้ช่วยเสนอแนะกรมพัฒนาที่ดินหรือพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ด้วย หรือท่านใดมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาหาแหล่งน้ำตามพระราชดำริของ ร.๙ เช่น การทำหลุมขนมครกหรือแก้มลิงเก็บน้ำ/การชักน้ำลงคลองไส้ไก่หรือการสร้างเหมืองฝายชะลอน้ำหรือเก็บน้ำโดยใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่มาทำแหล่งน้ำดังกล่าวโดยให้ชาวบ้านหรือชาวสวนยางได้ออกแรงงานแล้ว ส่วนราชการซื้อวัสดุให้ชาวบ้านมาร่วมกันทำก็ได้ หรือในบางแห่งอาจร่วมกันกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำธนาคารน้ำใต้ดินได้ทราบว่า เรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ ท่าน รมช.วิวัฒน์ ศัลยกำธร มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ก็ขอให้ท่านอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทานรวมทั้งพวกเราได้ปรึกษาท่านและร่วมกันดำเนินการทันที

สำหรับงบประมาณดำเนินการนั้น หากมีงบประมาณประจำปีตามแผนงานอยู่แล้ว ก็ให้รีบดำเนินการหรือขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณพัฒนาจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือต่อยอดขยายผลโครงการ ๙๑๐๑ หรือประสานงานภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่ที่มีงบประมาณดูแลสังคม (CSR) หรือทำ โครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณกลางสำรองจ่ายมาที่กระทรวงก็ได้ ปัจจุบัน มีเกษตรกรบางพื้นที่ได้รวมตัวกันในรูปกลุ่มเกษตรกรตามลักษณะอาชีพหรือจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรหรือการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนอย่างได้ผลดีซึ่งกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้จะมีความเข้มแข็งกว่าเกษตรกรรายบุคคลทั่วไป บางกลุ่มสามารถบริหารงานดูแลสมาชิกในกลุ่มได้ดี มีการใช้ความรู้ทางด้านการทำธุรกิจหรือเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาอาชีพการเกษตร ทำให้มีรายได้ครัวเรือนมากขึ้นเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพ

จึงขอให้คนที่อยู่ในพื้นที่ได้ช่วยสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรเหล่านั้น ให้เป็นต้นแบบหรือขอมาเป็นวิทยากรขยายผลการรวมกลุ่มในพื้นที่ให้มากๆ ขึ้นด้วย ซึ่งกิจการในแนวสหกรณ์ก็เป็นแนวพระราชดำริประการหนึ่งของในหลวง ร.๙ ต่อไป กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของเรา จะพยายามจัดสรรงบประมาณให้เกษตรกรที่สามารถรวมตัวเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งแล้วได้มีงบประมาณหรือปัจจัยการผลิตด้าน การเกษตรประจำกลุ่มเป็นกรณีพิเศษด้วยจึงขอให้ท่าน ปลัด กษ.ได้มอบหมายท่านรองปลัดกระทรวงและอธิบดีที่เกี่ยวข้องได้เร่งจัดทำข้อมูล (big data) กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวไว้ให้ เป็นระบบ เพื่อให้เชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆตามกรม กอง ของกษ.หรือให้กระทรวงอื่นๆนำไปจัดทำโครงการประสานเชื่อมโยงเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางมากขึ้นด้วย

ต่อไปนี้ ชาวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด/อำเภอและตำบลหมู่บ้านจะต้องร่วมกันทำงานในพื้นที่เดียวกันตามความเชี่ยวชาญของแต่ละท่านไม่แยกส่วนไม่แยกกรมกอง แต่ทุกคนจะมีเป้าหมายเดียวกันคือการทำงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรแบบครบวงจร อนึ่ง หากพวกเราโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมีปัญหาอุปสรรคในการทำงานหรือมีข้อเสนอแนะหรือมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานแล้วก็ขอให้รายงานมายัง กษ.ด้วยเพื่อส่วนกลางจะได้นำมาขยายผลหรือปรับปรุงแก้ไขให้งาน กษ.ของเราเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรให้มากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น